การวิจัยการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดของแฮบาร์ตร่วมกับเทคนิคของโพลยา
เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาเชื่อมโยง เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ และ 4) เพื่อปรับปรุงและประเมินผลรูปแบบการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนโคกสะอาดวิทยา อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 28 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบ “OPCCA model” เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 12 แผน เวลา 12 ชั่วโมง 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ ค่าความยากง่ายระหว่าง0.52 ถึง 0.80 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.22 ถึง 0.74 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.83 3) แบบทดสอบวัดความสามารถการแก้ปัญหาการเชื่อมโยง จำนวน 15 ข้อ และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนด้วยรูปรูปแบบ “OPCCA model” เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test (Dependent Sample)
ผลการศึกษาพบว่า
1. สภาพข้อมูลพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ควรปรับปรุงด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้เนื่องจากมีนักเรียนอ่านหนังสือไม่คล่อง จึงเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ควรส่งเสริมนักเรียนโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะกระบวนการแก้ปัญหาเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน
2. ผลการสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ตามแนวคิดของ
แฮบาร์ตร่วมกับเทคนิคของโพลยา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาเชื่อมโยง เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง นักเรียนสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน นักเรียนวางแผนการทำงาน คิดแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ครูผู้สอนเป็นผู้เสนอแนะแนวทางการเรียนรู้เพิ่มเติมด้านเนื้อหา เพื่อให้นักเรียนเกิดการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาเชื่อมโยง เรียกว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ “OPCCA model”
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน พบว่า กิจกรรมการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ 78.79/83.45 ซึ่งผ่านเกณฑ์ 75/75 และนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2561 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ .05
4. ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษา ปีที่ 2 ปีการศึกษา 2561 มีผลการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาเชื่อมโยง หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ .05 และผลจากประเมินความพึงพอใจของนักเรียนในการใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ“OPCCA model” โดยรวมอยู่ในระดับระดับมากที่สุด (X = 4.63, S.D.= 0.54)