การพัฒนารูปแบบการสอน 2P4S เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง ความน่าจะเป็น และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายู-บางกอก) ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 1) เพื่อสร้างรูปแบบการสอน 2P4S เรื่อง ความน่าจะเป็น กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอน 2P4S ที่พัฒนาขึ้นให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อศึกษาผลของการใช้รูปแบบการสอน 2P4S ในด้าน 3.1) การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ความน่าจะเป็น ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการสอน 2P4S และ 3.2) ศึกษาทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียน จากการเรียนโดยรูปแบบการสอน 2P4S และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการสอน 2P4S กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ รูปแบบการสอน 2P4S ซึ่งเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ความน่าจำเป็น จำนวน 20 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดทักษะการแก้ปัญหาและแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าทีแบบไม่อิสระจากกัน (t – test Dependent) ค่าเฉลี่ย ( ) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation) ผลการวิจัยพบว่า
1.รูปแบบการสอน 2P4S เป็นรูปแบบการสอนที่บูรณาการการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยมี 2 กระบวนการ (2 Processes) 4 ขั้นตอน (4 Steps) กล่าวคือ กระบวนการที่ 1) จัดทำโครงงาน 2) นำเสนอและประเมินผลโครงงาน และขั้นตอนที่ 1) ขั้นระบุปัญหา 2) ขั้นกำหนดแนวทาง 3) ขั้นศึกษาค้นคว้า 4) ขั้นสรุปและสังเคราะห์ความรู้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินคุณภาพรูปแบบการสอน 2P4S โดยรวมอยู่ในระดับดีมาก
2.รูปแบบการสอน 2P4S มีประสิทธิภาพ 89.73/88.33
3.ผลการใช้รูปแบบการสอน 2P4S พบว่า
3.1ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ความน่าจะเป็น ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการสอน 2P4S แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยพบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยรูปแบบการสอน 2P4S มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน
3.2ทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังจากเรียนโดยรูปแบบการสอน 2P4S แล้ว โดยรวม ความสามารถอยู่ในระดับดี และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าทุกด้าน มีความสามารถในการแก้ปัญหาอยู่ในระดับดี ซึ่งสามารถเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ดังนี้ ความสามารถในการระบุปัญหา ความสามารถในการอธิบายสาเหตุของปัญหา การระบุผลที่ได้จากการแก้ปัญหา และการระบุวิธีการแก้ปัญหา ตามลำดับ
4.ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการสอน2P4S โดยรวม อยู่ระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ และนักเรียนรู้จักวิเคราะห์โจทย์ บอกสิ่งที่โจทย์ให้และโจทย์ถามหา รองลงมา คือ ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะการแก้ปัญหา สามารถระบุปัญหา อธิบายสาเหตุ วิธีการแก้ปัญหา และผลที่ได้รับจากการแก้ปัญหา และนักเรียนรู้จักการเชื่อมโยงระหว่างความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ทำให้สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตามลำดับ