ชื่อเรื่อง รายงานผลการประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาล
วัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ประเมิน นางณัฏฐนันท์ ลังการัตน์
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ปีที่ประเมิน 2561
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินผลโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ ทั้ง 8 ด้านได้แก่ ด้านบริบท ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายโยงความรู้ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา 2 คน ครูผู้สอน 21 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 85 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน85 คน รวม 208คน ใช้รูปแบบการประเมินโครงการ CIPPiest Model เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วยแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ มีลักษณะแบบมาตรประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และการจัดสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงมาตรฐาน วิเคราะห์เนื้อหาและนำเสนอแบบพรรณนาวิเคราะห์ ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท (Context) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม ความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นของรัฐบาล ความสอดคล้องของโครงการกับหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน มีความเหมาะสมของทรัพยากร ความสอดคล้องกับสภาพความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความเหมาะสมของด้านการบริหารจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นการประเมินครอบคลุมเกี่ยวกับงบประมาณ อาคารสถานที่ สื่อวัสดุอุปกรณ์ บุคลากรเข้าใจหลักการพัฒนาผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน การดำเนินการมีความเหมาะสมของระยะเวลา การนิเทศ กำกับ ติดตามประเมินการดำเนินโครงการ/กิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมการจัด การเรียนรู้ตามหลักสูตรท้องถิ่น คัวเงิน คัวเนียม และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีความสุขทั้งผู้เรียนและครู
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน ผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามกำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของโครงการ ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ทักษะความสามารถ และคุณธรรมจริยธรรม เจตคติรวมทั้งความสามารถในการนำไปปฏิบัติได้จริง ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การแสดงออกทางพฤติกรรมที่ดี มีกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่หลากหลายให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระ มีการปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอ ประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และการมีคุณธรรมนำความรู้
5. ผลการประเมินด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เป็นที่ยอมรับ การมีชื่อเสียงของสถาบัน ผู้บริหารครูมีการพัฒนาตนเองเป็นแบบอย่างที่ดี ชุมชน สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
6. ผลการประเมินด้านประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน มีความมั่นใจในองค์ความรู้ ที่มีอยู่ มีความชำนาญ มีประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติการแสดงออกด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ด้านความมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี นักเรียนมีการพัฒนาตนเองเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อน ๆ และคนในครอบครัว ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างได้ ผู้ปกครองและชุมชนมีความพึงพอใจต่อการจัดการศึกษา
7. ผลการประเมินด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน โครงการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย นักเรียนมีความสามารถในการนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตจริง หรือเชื่อมโยงความรู้ที่ได้ไปสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
8. ผลการประเมินด้านการถ่ายโยงความรู้ (Transportability Evaluation) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน การถ่ายทอดความรู้ หรือขยายองค์ความรู้ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ปัญหาในปัจจุบัน
สรุปผลการประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ