ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2
โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนาความสามารถ
ทางการแก้ปัญหา
ผู้วิจัย นางศุภลักษณ์ เรืองเรื่อ
โรงเรียน โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแก้ปัญหา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2เป็นเครื่องมือ โดยการวิจัยและพัฒนามี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนิยาม พฤติกรรมบ่งชี้ ความสามารถโดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา ขั้นตอนที่ 2 พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อกำหนดกรอบแนวคิด โครงสร้างการจัดประสบการณ์และเครื่องมือประกอบการใช้จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบการจัดประสบการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยใช้แบบแผนการวิจัยแบบกำหนดกลุ่มควบคุม ทดสอบก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ต่อเนื่องตามวัน เวลา ที่กำหนด ระยะเวลา 5 สัปดาห์ และขั้นตอนที่ 4 การประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา เครื่องมือการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือการจัดประสบการณ์ คือ รูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 เครื่องมือการประเมิน คือ แบบทดสอบความสามารถทางการแก้ปัญหา และแบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถทางการแก้ปัญหา การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย คือ 1) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ นักเรียน
ชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา จำนวน 15 แผน แบบทดสอบความสามารถทางการแก้ปัญหา จำนวน 30 ข้อ และแบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถทางการแก้ปัญหา จำนวน 6 ข้อ ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแก้ปัญหา มีความสามารถในการแก้ปัญหาหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนที่ได้รับการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา มีความคงทนของพฤติกรรมในการเรียนรู้หลังเรียน 2 สัปดาห์ มีความสามารถในการแก้ปัญหา เท่ากับร้อยละ 74.69 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง เป็นนักเรียน
ชั้นอนุบาลปีที่ 2/4 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวนนักเรียน 39 คน ที่มีความพร้อมใกล้เคียงกัน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sample) และผู้วิจัยเป็นครูประจำชั้นอนุบาลปีที่ 2/4 จึงสามารถควบคุมตัวแปรได้เป็นอย่างดี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ (1) รูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ใช้เวลาเรียน 3 สัปดาห์ ๆ ละ 200 นาที (2) แบบทดสอบความสามารถทางการแก้ปัญหา จำนวน 30 ข้อ ประกอบด้วยสถานการณ์ปัญหา จำนวน 10 ข้อ และคำถามปัญหา 3 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.67 ถึง 1.00 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ และการทดสอบสมมติฐาน ใช้ Paired t-test
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ผลการวิเคราะห์เพื่อกำหนดกรอบแนวคิด โครงสร้างการจัดประสบการณ์และเครื่องมือประกอบการใช้จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แบบประเมินค่าดัชนีความสอดคล้อง ทั้งแบบวิเคราะห์เอกสาร ตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบการจัดประสบการณ์
โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน พบว่า มีความสอดคล้อง โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 1.00 ทุกรายการ
2. รูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ 81.72/80.53 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.69 ซึ่งแสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนร้อยละ 69
3. นักเรียนได้รับการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา หลังการจัดประสบการณ์มีความสามารถทางการแก้ปัญหา สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนได้รับการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา
มีความคงทนของพฤติกรรมความสามารถทางการแก้ปัญหา เท่ากับร้อยละ 74.69
โดยสรุป รูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแก้ปัญหา ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเหมาะสม นักเรียนมีความสามารถทางการแก้ปัญหา และมีความคงทนของพฤติกรรมความสามารถทางการแก้ปัญหา โดยการคิดหาเหตุผล นำความรู้และประสบการณ์มาใช้ในการแก้ปัญหา จึงควรสนับสนุน และส่งเสริมให้ครูผู้สอนเด็กปฐมวัย นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ต่อไป