ชื่อเรื่อง :การพัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับครูในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม สำนักการศึกษา
เทศบาลนครขอนแก่น
ผู้วิจัย : นายบุญธรรม โบราณมูล ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่น
ปีการศึกษา : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการพัฒนาคู่มือการจัด การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยมเพื่อพัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม เพื่อทดลองใช้และหาประสิทธิภาพของคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยมและเพื่อประเมินผลการใช้คู่มือ การจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม
โดยดำเนินการวิจัยแบบวิจัยและพัฒนา (Research and Development) แบ่งขั้นตอนการดำเนิน การวิจัยออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการพัฒนาคู่มือ การจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ระยะที่ 2 พัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม ระยะที่ 3 ทดลองใช้และหาประสิทธิภาพของคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม และระยะที่ 4 ประเมินผลการใช้คู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอน ในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม จำนวน 55 คน ได้มาโดยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เป็นคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบการฝึกอบรมด้วยวิธีผสมผสาน 2 วิธี จากการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (Online) และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Off line) และประยุกต์ใช้การประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) ของ แดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam)
ผลการวิจัย พบว่า
1. การประเมินสภาวะแวดล้อม โดยการรวบข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการของครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ตำรา งานวิจัย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นำมาวิเคราะห์สรุปได้ว่า วัตถุประสงค์การฝึกอบรมคือ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการปฏิบัติการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลักสูตรมีเนื้อหา 6 หน่วยการเรียนรู้ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้เข้ารับการอบรมเป็นครูผู้สอนที่มีความสนใจและสมัครเข้าร่วมการอบรม จำนวน 55 คน ใช้วิธีการฝึกอบรมด้วยวิธีผสมผสาน
2. การประเมินปัจจัยเบื้องต้น ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องขององค์ประกอบหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตร ได้แก่ ความสอดคล้องของหัวข้อฝึกอบรมกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม และความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมกับแบทดสอบ ผลปรากฏว่า มีดัชนีความสอดคล้องกันสูง ทำให้ร่างคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความเป็นไปได้และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม โดยนำหลักสูตรฝึกอบรมรวมทั้งเครื่องมือต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินแล้วนำไปทดลองนำร่องใช้ ปรากฏว่า คู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีคุณภาพสามารถนำไปจัดฝึกอบรมได้
3. การประเมินกระบวนการ เมื่อนำคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย พบว่า คู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.24/83.09 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80/80 ที่ตั้งไว้ และค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจของครูที่มีต่อคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า มีความพึงพอใจโดยรวมในระดับมากที่สุด
4. การประเมินผลผลิต โดยได้ติดตามผลการปฏิบัติการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครู ผลปรากฏว่า มีคะแนนการปฏิบัติการสอนโดยรวมอยู่ในระดับดีมาก ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้บริหารที่มีต่อการฝึกอบรมของครู ผลปรากฏว่า มีความพึงพอใจต่อครู ที่เข้ารับการอบรม โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด