ชื่อผลงาน รายงานการประเมินโครงการการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพ
การศึกษาของโรงเรียนวัดลุ่ม
ผู้ประเมิน นัฐราพร พิชญากร
ปีที่ประเมิน 2561
บทคัดย่อ
การประเมินจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดลุ่ม จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดลุ่ม ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต
รูปแบบของการประเมินโครงการในครั้งนี้ ใช้รูปแบบจำลอง CIPP Model ซึ่งเป็นการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ ประเมินในด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) ผู้ให้ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินโครงการ เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ ปีการศึกษา 2561 ได้แก่ คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนวัดลุ่ม จำนวน 20 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 67 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 จำนวน 67 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 154 คน เครื่องมือที่ในการประเมินเป็นแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ซึ่งผลการประเมินโครงการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน วัดลุ่มสรุปได้ ดังนี้
1. การประเมินโครงการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดลุ่ม ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน
2. การประเมินผลผลิตด้านการดำเนินกิจกรรมตามโครงการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดลุ่ม จำนวน 6 กิจกรรม พบว่า ทุกกิจกรรมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยที่กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์ และกิจกรรมสร้างเสาธง มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ กิจกรรมพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ กิจกรรมพัฒนาห้องสมุด และกิจกรรมปรับปรุงอาคารเรียน ตามลำดับ
3. การประเมินผลผลิตด้านความพึงพอใจของบุคลากรในโรงเรียน สรุปได้ว่าบุคลากรมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาอาคารสถานที่ การพัฒนาสภาพแวดล้อม การบริหารจัดการ และคุณลักษณะของนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน
4. การประเมินผลผลิตด้านความพึงพอใจของผู้ปกครอง สรุปได้ว่า ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาอาคารสถานที่ การพัฒนาสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์กับชุมชน และคุณลักษณะของนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน
5. การประเมินผลผลิตด้านความพึงพอใจของนักเรียน สรุปได้ว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาอาคารสถานที่ การพัฒนาสภาพแวดล้อม การจัดกิจกรรมเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ห้องปฏิบัติการ อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน