การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน พัฒนารูปแบบการสอนและศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการสอนเขียนสื่อสารโครงงานเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนในโครงการความเป็นเลิศทางวิชาการ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ตอน คือ
ตอนที่ 1 ศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนมีวิธีดำเนินงาน 3 ขั้นตอน คือ 1)
การกำหนดปัจจัยที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนโดยการศึกษาเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้ปัจจัยทั้งหมด 7 ด้าน คือ ด้านเจตคติต่อการเรียน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ พฤติกรรมการสอนของครู บรรยากาศในชั้นเรียน การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย บุคลิกภาพทางวิทยาศาสตร์ และความสามารถด้านเหตุผล 2) สร้างแบบวัดที่ครอบคลุมตัวแปรทั้งหมด 8 ฉบับ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน พิจารณาตรวจสอบความสอดคล้อง Item Objective Congruence Index (IOC) พบว่าทุกข้อมีค่า IOC ตั้งแต่ 0.8-1.0 จากนั้นหาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ (reliability) โดยการคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของ Cronbach (Cronbach coefficient alpha) ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าแต่ละฉบับตั้งแต่ .84-.94 และหาค่าความเชื่อมั่นแบบ KR 20 ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .82 และ.84 3) วิเคราะห์ลักษณะการคิดสร้างสรรค์ในแต่ละปัจจัยโดย การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในของตัวแปรพยากรณ์ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรพยากรณ์กับการคิดสร้างสรรค์โดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson product-moment correlation cofficient) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพหุคูณ (Multiple correlation)
ตอนที่ 2 พัฒนารูปแบบการสอนเขียนสื่อสารโครงงานเชิงสร้างสรรค์มีวิธีดำเนินงาน 4 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 การพัฒนากรอบรูปแบบการสอนโดยการศึกษาเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2) สร้างเอกสารประกอบรูปแบบการเรียนการสอน ประกอบด้วยคู่มือการจัดการเรียนการสอน และ แผนการจัดการเรียนรู้ 3) ตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการสอนและเอกสารประกอบรูปแบบการสอนโดยการให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน พิจารณาตรวจสอบค่าความสอดคล้อง ได้ผลอยู่ในระดับดี 4) การศึกษานำร่องก่อนนำไปใช้จริง พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนมีความเป็นไปได้
ตอนที่ 3 หาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน โดยวิธีวิจัยแบบ Randomized Two Group Posttest Only Design กับนักเรียนในโครงการความเป็นเลิศทางวิชาการ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 44 คน ระยะเวลา 5 สัปดาห์ ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1.ปัจจัยด้านเจตคติต่อการเรียน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ พฤติกรรมการสอนของครู การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือบุคลิกภาพทางวิทยาศาสตร์ซึ่งส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในระดับดี และปัจจัยที่มีอิทธิพลน้อยที่สุด คือ ความสามารถด้านเหตุผล ซึ่งส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในระดับน้อยมาก
2. รูปแบบการสอนเขียนสื่อสารโครงงานเชิงสร้างสรรค์นักเรียนในโครงการความเป็นเลิศทางวิชาการ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ รายวิชาภาษาไทยพื้นฐาน 5 รหัสวิชา ท 33101 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ประกอบด้วย 1) หลักการและเหตุผล 2) แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับหลักการระดมสมองและการเรียนการสอนแบบร่วมมือเทคนิคเอสทีเอดี 3)โครงสร้างของรูปแบบประกอบด้วย 3.1 ขั้นเตรียมความพร้อม 3.2 ขั้นกระบวนการสอน คือ แบ่งกลุ่มความสามารถ ศึกษาเนื้อหา พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอความคิด และสรุปบทเรียน ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบการสอนของผู้เชี่ยวชาญอยู่ในระดับสูง 3.3 ขั้นประเมินผลการคิดสร้างสรรค์และผลสัมฤทธิ์ด้านการเขียนสื่อสารโครงงานเชิงสร้างสรรค์ได้ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของผู้เชี่ยวชาญอยู่ในระดับสูง
3.ประสิทธิภาพของรูปแบบการสอนเขียนสื่อสารโครงงานเชิงสร้างสรรค์ในการส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน พบว่าการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยคะแนนการคิดสร้างสรรค์และผลสัมฤทธิ์ด้านการเขียนสื่อสารโครงงานเชิงสร้างสรรค์ ภายหลังการเรียนของกลุ่มตัวอย่างสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญสถิติที่ระดับ 0.5
5. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการสอนเขียนสื่อสารโครงงานเชิงสร้างสรรค์โดยภาพรวมแต่ละด้านอยู่ในระดับมาก