ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ
Active Learning
ชื่อผู้วิจัย นายประกิจ กิ่งทอง
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3 วัดเนรัญชรา เทศบาลเมืองชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ปีที่ทำการวิจัย พ.ศ. 2560
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและประเมินความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning และ 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ครู จำนวน 12 คน นักเรียน จำนวน 120 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล 3 วัดเนรัญชรา เทศบาลเมืองชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามเพื่อศึกษาความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบบตรวจสอบความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ความเป็นไปได้และความสอดคล้องของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบบวิเคราะห์เอกสารข้อมูลพื้นฐาน แบบสัมภาษณ์เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน แบบประเมินความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ของครู แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แบบสัมภาษณ์นักเรียนและแบบสัมภาษณ์ครู แบบวัดความพึงพอใจของครู แบบประเมินคุณภาพรูปแบบการจัดการเรียนรู้ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) วิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยการทดสอบค่า ที (t-test dependent) สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการวิจัย
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning สามารถสรุปผลการวิจัย ตามวัตถุประสงค์ ได้ดังนี้
1. ครูและนักเรียนมีความเห็นว่าจำเป็นและต้องการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ครู 4) คุณลักษณะและทักษะในการปฏิบัติงานและ 5) คุณภาพผู้เรียน โดยในองค์ประกอบที่ 3 กระบวนการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ครู 6 ขั้นตอน คือ ขั้นศึกษาสภาพปัญหา ขั้นนำพาสู่การพัฒนา ขั้นสรรหาเพิ่มพูนความรู้ครู ขั้นมุ่งสู่การปฏิบัติจริง ขั้นไม่ละทิ้งการนิเทศ ติดตามประเมินผลและขั้นบุคลากรครูทุกคนร่วมใจพัฒนา โดยคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวน การ Active Learning ในภาพรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.04)
3. หลังการพัฒนาครูด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning ได้ผลการวิจัยดังนี้
3.1 การประเมินคุณลักษณะและความรู้ความเข้าใจของครูหลังการพัฒนาด้วยรูปแบบมีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.65, S.D. = 0.74) สูงกว่าก่อนการพัฒนาด้วยรูปแบบ (x̄ = 2.80, S.D. = 0.74)
3.2 หลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.3 ครูมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยกระบวนการ Active Learning อยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.06)