ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการตามรอยพ่อความพอเพียงของ
โรงเรียนเทศบาล ๔ หนองแคอนุสรณ์
ชื่อผู้รายงาน : นายดิถี เหมือนแม้น
รองผู้อำนวยการ วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีที่รายงาน : พ.ศ. 2561
---------------------------------------------------------------------------
รายงานการประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อรายงานการประเมินโครงการตามรอยพ่อความพอเพียงของโรงเรียนเทศบาล 4 หนองแคอนุสรณ์ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ( Process Evaluation) และด้านผลผลิต ( Product Evaluation) โดยทำการประเมินจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 42 คน ผู้ปกครองและชุมชน จำนวน 90 คน และนักเรียน จำนวน 116 คนรวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 248 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า เกี่ยวกับการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเทศบาล 4 หนองแคอนุสรณ์ จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการดำเนินงานและด้านผลผลิต การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ( X ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)
ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
จากการศึกษาการประเมินโครงการตามรอยพ่อความพอเพียงของโรงเรียนเทศบาล 4 หนองแคอนุสรณ์ สรุปผลดังนี้
1. การประเมินโครงการตามรอยพ่อความพอเพียงของโรงเรียนเทศบาล 4 หนองแคอนุสรณ์ ผลการประเมินโดยรวมและรายด้าน พบว่าอยู่ในระดับมากเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก คือ ด้านผลผลิต ด้านกระบวนการดำเนินงาน และด้านปัจจัยนำเข้า
2. การประเมินสภาวะแวดล้อม ผลการประเมินพบว่า มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก คือ วัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง หลักการและเหตุผลของโครงการตามรอยพ่อความพอเพียง มีความสอดคล้องกับนโยบายในการจัดการศึกษาของโรงเรียน กิจกรรมและการดำเนินงานของโครงการมีความชัดเจน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการในด้านทักษะพื้นฐานด้านการเกษตรการดำรงชีวิตออย่างมีคุณภาพสร้างแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
3. การประเมินปัจจัยนำเข้า ผลการประเมินพบว่ามีความเพียงพอ เหมาะสม อยู่ในระดับมากเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก คือ ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมตามโครงการเป็นผู้มีความรู้ ความสนใจ ความสามารถเหมาะสมและเพียงพอจำนวนบุคลากรที่ดำเนินโครงการมีความเหมาะสม เพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการและสถานที่สำหรับใช้ปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอ
4. การประเมินกระบวนการดำเนินงาน ผลการประเมินพบว่ามีประสิทธิภาพ อยู่ในระดับมากเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก คือ การกำหนดขั้นตอนการจัดทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงมีความชัดเจนสาระเนื้อหาตามองค์ประกอบของโครงการเศรษฐกิจพอเพียงมีความชัดเจน ปฏิบัติได้กิจกรรมในโครงการช่วยให้โรงเรียนบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการและการรายงานผลการประเมินกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง
5. การประเมินผลผลิต ผลการประเมินพบว่ามีประสิทธิผลอยู่ในระดับมากเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก คือ ผลการดำเนินกิจกรรมธนาคารขยะทำให้นักเรียนมีความรู้ทักษะพื้นฐานในการคัดแยกขยะ ผลการดำเนินกิจกรรมพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ทำให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐานในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ผลการดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในครอบครัวของตนเองได้และผลการดำเนินกิจกรรมสมุนไพรใกล้ตัวกับกิจกรรมสร้างงานสร้างอาชีพ การทำกระถางต้นไม้จากยางรถยนต์ การทำปุ๋ยหมักอีเอ็มบอล ทำให้นักเรียนได้รู้จักสมุนไพรที่ใช้ในครัวเรือนของตนเอง การคิดและประดิษฐ์สิ่งของที่เหลือใช้นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้
จากผลการวิจัยการประเมินโครงการโครงการตามรอยพ่อความพอเพียงของโรงเรียนเทศบาล 4 หนองแคอนุสรณ์ เพื่อให้การประเมินโครงการตามรอยพ่อความพอเพียงของโรงเรียนเทศบาล 4 หนองแคอนุสรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ ดังนี้
1. ครูที่ปรึกษากิจกรรมต่างๆ ที่รับผิดชอบควรสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันที่ส่งผลต่อผู้เรียน
2. ด้านสภาวะแวดล้อมผู้บริหารควรมีการประสานกับชุมชนในพื้นที่หรือท้องถิ่นใกล้เคียงให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียนในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมมีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนมากที่สุด
3. ด้านปัจจัยนำเข้า ควรส่งเสริมชุมชนได้เห็นประโยชน์และความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา ทั้งนี้เพื่อจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกระดับผู้นำชุมชน ผู้นำส่วนท้องถิ่นและองค์กรเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ต่อเนื่องและจริงจัง
4. ด้านกระบวนการดำเนินงาน ควรมีการกำหนดวัน เวลา และระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมอย่างชัดเจน กำหนดรูปแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนให้มากยิ่งขึ้น และดำเนินกิจกรรมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง
5. ด้านผลผลิตควรกำหนดกิจกรรมในโครงการให้มีความครอบคลุมเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของผู้เรียนแต่ละช่วงวัย เน้นการดำเนินกิจกรรมที่ต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนมีวินัยใฝ่เรียนรู้ มีจิตอาสา ตามอัตลักษณ์ของโรงเรียน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน