ชื่อผลงาน รายงานผลการนิเทศเพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการสืบเสาะ
ทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับเทคนิคการรู้คิด สำหรับครูวิทยาศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ผู้ศึกษา นางกรวิกา ฉินนานนท์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
หน่วยงาน กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 13
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการนิเทศเพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการสืบเสาะร่วมกับเทคนิคการรู้คิด สำหรับครูวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยการอบรมแบบโปรแกรมต่อเนื่อง (Long Term Training Program) 4 ระดับ ได้แก่ 1) ปฏิกิริยาความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศ 2) ผลการเรียนรู้ของผู้รับการนิเทศ 3) พฤติกรรมการนำความรู้จากการนิเทศไปใช้ และ 4) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เข้ารับการอบรม จำนวน 44 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 342 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการอบรม แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการรับการนิเทศ แบบทดสอบก่อนและหลังการอบรม แบบประเมินกระบวนการจัดการเรียนรู้ แบบสอบถามการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้แบบประเมินพฤติกรรมด้านการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์และทักษะการคิดของนักเรียน และแบบวัดเจตคติต่อการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการสืบเสาะร่วมกับเทคนิคการรู้คิดของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทกสอบ t-test
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการประเมินปฏิกิริยาของผู้รับการนิเทศ พบว่า ผู้รับการนิเทศ มีความคิดเห็นโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านเนื้อหาการอบรม ด้านจัดการอบรม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกข้อ และผู้รับการนิเทศ มีความพึงพอใจต่อการรับการนิเทศโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีความพึงพอใจระดับมากทุกข้อ
2. ผลการประเมินการเรียนรู้ของผู้รับการนิเทศ พบว่า ผู้รับการนิเทศ ร้อยละ 79.37 มีคะแนน ผลการทดสอบตั้งแต่ร้อยละ 60 ขึ้นไป สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ ร้อยละ 75 ของผู้รับการนิเทศทั้งหมด และ มีคะแนนเฉลี่ยการทดสอบวัดความรู้หลังเข้ารับการอบรมสูงกว่าก่อนเข้ารับการอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คะแนนเฉลี่ยการทดสอบก่อนและหลังการอบรมมีคะแนน ความเปลี่ยนแปลงคิดเป็นร้อยละ 33.37 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ ร้อยละ 15 และผู้รับการนิเทศ มีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้อยู่ในระดับดีทุกข้อ ได้แก่ ด้านการวัดประเมินผล ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ และด้านการวิเคราะห์หลักสูตร ตามลำดับ
3. ผลการประเมินการนำความรู้จากการนิเทศไปใช้ของผู้รับการนิเทศ พบว่า มีการนำความรู้จากการนิเทศไปใช้ในชั้นเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียน พบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมด้านการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์และทักษะการคิด โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และมีเจตคติต่อการเรียนรู้การเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ด้าน การสืบเสาะร่วมกับเทคนิคการรู้คิดของนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก