บทสรุปผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านเหนือคลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการดำเนินงาน และผลผลิตของโครงการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินคือ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน รวมจำนวน 195 คน กรอบการประเมินใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) เครื่องมือที่ใช้ประเมินคือ แบบสอบถามประเภทมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 6 ฉบับประกอบด้วย แบบสอบถามประเมินสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการดำเนินงาน และผลผลิตของโครงการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
สรุปผลการประเมิน
1. ผลการประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความเหมาะสมและความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ โครงการ พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมและความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
2. ผลการประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความต้องการจำเป็นของโครงการ พบว่า โดยภาพรวม มีความต้องการจำเป็นอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
3. ผลการประเมินสภาพแวดล้อมโดยภาพรวมของโครงการ พบว่า มีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
4. ผลการประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมมีความเพียงพออยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
5. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
6. ผลการประเมินด้านผลผลิตตามวัตถุประสงค์ของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมผลผลิต มีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
7. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการด้าน รูปแบบและบรรยากาศในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พบว่า โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ทั้งสองด้าน ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ทั้งสองด้าน
8. ผลการประเมินนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้าของนักเรียน พบว่า โดยภาพรวมนักเรียนมีนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้าเป็นประจำ คิดเป็นร้อยละ 89.07 ผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
9. ข้อเสนอแนะสำหรับนำผลการประเมินไปใช้ที่สำคัญ ได้แก่
9.1 ผลการประเมิน พบว่า สภาวะแวดล้อมด้านความเหมาะสม ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์โครงการและความต้องการจำเป็นในการจัดทำโครงการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณต่อไปเป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อสนองนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูลและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป
9.2 ผลการประเมิน พบว่า ปัจจัยเบื้องต้นที่สนับสนุนให้โครงการประสบความสำเร็จ บางปัจจัยมีความเพียงพอในอยู่ในระดับมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ของโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนมีคุณภาพน้อยลงตามสัดส่วนของปัจจัยสนับสนุนได้ ดังนั้นประเด็นที่ผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บริหารโรงเรียนบ้านเหนือคลองควรคำนึงเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเพิ่มปัจจัยเบื้องต้นให้เพียงพอสำหรับการสนับสนุนโครงการก่อนดำเนินงานโครงการคือ ควรเพิ่มวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานโครงการ ให้มีความเพียงพอเพิ่มขึ้นคือ อยู่ในระดับมากที่สุดต่อไป
9.3 ผลการประเมิน พบว่า โดยภาพรวมกระบวนการดำเนินงานโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ประเด็นที่ผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บริหารโรงเรียนควรคำนึงเป็นพิเศษเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้นคือ การนิเทศการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบทบทวนคุณภาพการดำเนินงานระหว่างการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และควรนำผลการการตรวจสอบทบทวนคุณภาพไปนิเทศเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน โครงการเพื่อให้ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
9.4 ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ผลการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้มีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ผลการประเมินชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมโครงการทั้ง 6 กิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีครั้งต่อไปควรเพิ่มจำนวนกิจกรรม และความหลากหลายในรูปแบบของการจัดกิจกรรมปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มขึ้น อาทิ ควรเพิ่มกิจกรรมตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ กิจกรรมค่ายรักการอ่าน กิจกรรมแข่งขันตั้งคำถามจากเรื่องที่อ่าน เป็นต้น
9.5 ผลการประเมินความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียนโดยภาพรวมพบว่า นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้าคิดเป็นร้อยละ 89.07 ดังนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการค้นคว้า โรงเรียนควรบรรจุกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า ที่ให้ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจกรรม โดยเน้นกิจกรรมที่ให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้าที่บ้านของนักเรียนเอง อาทิ กิจกรรมอ่านหนังสือให้พ่อแม่ฟังก่อนนอน กิจกรรมอ่านทบทวนบทเรียนประจำวันให้ผู้ปกครองฟัง เป็นต้น