บทคัดย่อ
ชื่อ รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนวัดบางนาง
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2
ผู้รายงาน นายสิปปกร วินิจฉัย
ปีการศึกษา 2560
รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่านโรงเรียนวัดบางนาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการ ใน 4 ด้าน คือ 1) ประเมินด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ 2) งานปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงานตามโครงการ 3) ด้านกระบวนการที่ใช้ในการดำเนินงานตามโครงการ และ 4) ด้านผลผลิตของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบซิปป์ (CIPP Model)
ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโครงการ จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 48 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 48 คน รวมประชากรทั้งหมด จำนวน 103 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการส่งเสริมการอ่าน ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. การประเมินโครงการส่งเสริมการอ่าน โดยภาพรวม มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากทุกด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม รองลงมา คือ ด้านผลผลิต ด้านกระบวนการ และด้านปัจจัยนำเข้า
2. การประเมินด้านสภาพแวดล้อม โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ โครงการมีความสอดคล้องกับแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียน รองลงมา คือ กิจกรรมตามโครงการจะช่วยสร้างนิสัยรักการอ่านที่ยั่งยืนให้แก่นักเรียน และ เป้าหมายของโครงการที่ดำเนินการกับนักเรียนทุกระดับชั้นและทุกคน ตามลำดับ
3. การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ บุคลากรให้ความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ รองลงมา คือ บุคลากรมีความรู้ ความสามารถในการดำเนินโครงการ และ สถานที่ในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ตามลำดับ
4. การประเมินด้านกระบวนการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบงานชัดเจน รองลงมา คือ ใช้เทคนิควิธีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย และวิธีดำเนินการตามโครงการมีความชัดเจนและมีความยืดหยุ่น ตามลำดับ
5. การประเมินด้านผลผลิต โดยภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ นักเรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รองลงมา คือ นักเรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการอ่าน และนักเรียนรับรู้และเห็นความสำคัญของการอ่าน ตามลำดับ