ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลวัดโพธาราม
(บุญมากพิทยาคาร) จังหวัดสุโขทัย
ผู้วิจัย ณรงค์ โตแหยม
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยประเภทการวิจัยและพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน และ ปัญหา ของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลวัดโพธาราม(บุญมากพิทยาคาร) จังหวัดสุโขทัย (2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลวัดโพธาราม (บุญมากพิทยาคาร) จังหวัดสุโขทัย และ(3) เพื่อเสนอรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนเทศบาลวัดโพธาราม(บุญมากพิทยาคาร) จังหวัดสุโขทัย แบ่งการวิจัยเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงสำรวจสภาพปัจจุบัน ปัญหา และปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน ระยะที่ 2 เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลและปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลวัดโพธาราม(บุญมากพิทยาคาร) และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 50 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และสถิติการทำนายแบบถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน(Stepwise Multiple Regression Analysis )
ผลการวิจัยพบว่า
ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อต้องการทราบสภาพปัจจุบัน ปัญหาและปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน พบว่า
1) สภาพปัจจุบันของการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน โดยภาพรวม อยู่ในระดับ ปานกลาง
2) สภาพปัญหาของการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน โดยภาพรวม อยู่ในระดับ น้อย
3) ปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน โดยภาพรวม อยู่ในระดับ มาก วิเคราะห์โดยสมการถดถอยพหุคูณแบบมีขั้นตอน พบว่า ปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน คือ ด้านการงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ ด้านการบริหารจัดการ ด้านผู้บริหาร
ระยะที่ 2 การนำผลการวิเคราะห์ข้อมูล ด้านสภาพปัจจุบัน ปัญหา และปัจจัยที่เอื้อต่อการบริหารโรงเรียนเป็นฐาน จากการวิจัยระยะที่ 1 มากำหนดรูปแบบและวิธีการในการบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน โดยการแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
(1) สำรวจปัญหาและความต้องการในการพัฒนา (2) การพัฒนา เช่น การนิเทศ การประชุมปฏิบัติการ การสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่าย และการศึกษาดูงาน (3) การวิเคราะห์งานและออกแบบ (4) ปฏิบัติงาน (5) การนิเทศงาน (6) การประเมิน (7) การรายงาน
ระยะที่ 3 นำรูปแบบจากคำแนะของผู้ทรงคุณวุฒิมาปรับปรุง และสร้างกิจกรรมให้ความรู้แก่คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน ผลของการจัดกิจกรรมพัฒนาพบว่า ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีความผูกพันกับโรงเรียน รูปแบบที่สรุปได้ดังนี้ (1) สำรวจปัญหาและความต้องการในการพัฒนา (2) การพัฒนา (3) ออกแบบ (4) การปฏิบัติงาน (5) การนิเทศงาน (6) การประเมินและพัฒนา (7) การรายงาน