ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการแก้ปัญหา
ทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์
เรื่อง แรงและความดัน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้ศึกษา นางรจนา ไชยตะมาตย์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
ปีที่ทำการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์
โดยใช้ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่พัฒนาขึ้น 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน 4) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน และ 5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 จำนวน 37 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล ๔ (รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี) สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน จำนวน 7 เล่ม 2) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 14 แผน ใช้สอน 14 ชั่วโมง 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีค่าความยาก 0.32 ถึง 0.68 ค่าอำนาจจำแนก 0.29 ถึง 0.73 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.84 4) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ มีค่าความยาก 0.35 ถึง 0.77 ค่าอำนาจจำแนก 0.24 ถึง 0.75และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.82 5) แบบวัดความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาปรากฏดังนี้
1. ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 ที่สร้างขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.31/83.87 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
2. ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 ที่ผู้ศึกษาพัฒนาขึ้นมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7186 แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนร้อยละ 71.86
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและ ความดัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและ ความดัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ หลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อยู่ในระดับมาก