ชื่อผลงาน : รายงานการประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข
โรงเรียนบ้านบึงลัด
ลักษณะผลงาน : การประเมินโครงการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่
ผู้รายงาน : นางสาวอมรรัตน์ พนัสนาชี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบึงลัด
หน่วยงาน : โรงเรียนบ้านบึงลัด อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
ปีที่รายงาน : 2560
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข โรงเรียนบ้านบึงลัดครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และผลกระทบของการดำเนินโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP กลุ่มผู้ให้ข้อมูลมีจำนวนทั้งสิ้น 138 คน แบ่งเป็น ผู้บริหาร จำนวน 1 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 9 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียน จำนวน 21 คน ผู้ปกครอง จำนวน 95 คน และผู้นำชุมชน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วยแบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ แบบประเมินภูมิคุ้มกันยาเสพติดและสารเสพติดกับนักเรียน จำนวน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows ผลการประเมิน และข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด สรุปภาพรวมของการประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุขของโรงเรียนบ้านบึงลัด สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1 โดยภาพรวมทั้ง 5 ด้าน อยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านบริบท (Context) ด้านผลผลิต (Product) ด้านผลกระทบ (Impact) อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านกระบวนการ (Process) และด้านปัจจัยนำเข้า (Input) อยู่ในระดับมาก ตามลำดับ เมื่อแยกพิจารณาตามรายการประเมิน สรุปได้ดังนี้
1. บริบท (Context) ของโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาทั้ง 4 ตัวชี้วัด พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ การกำหนดแผนงานและโครงการ/ กิจกรรมสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข ไว้ในแผนปฏิบัติการประจำปีของโรงเรียน การจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข และมีห้องปฏิบัติกิจกรรม การนำข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการวางแผนดำเนินงานโครงการได้เหมาะสม ส่วนการนำนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการป้องกัน สารเสพติดและอบายมุขของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อดำเนินโครงการได้เหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. ปัจจัยนำเข้า (Input) ของโครงการอยู่ในระดับมาก เมื่อแยกพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านแผนการดำเนินโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนระยะเวลาดำเนินการ ความพร้อมของบุคลากร และด้านงบประมาณ อยู่ในระดับมาก
3. กระบวนการ (Process) ดำเนินงานของโครงการอยู่ในระดับมาก เมื่อแยกพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านการเฝ้าระวัง อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการค้นหา ด้านการป้องกัน และด้านการบริหารจัดการอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านการรักษา อยู่ในระดับน้อย
4. ผลผลิต (Product) ของโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อแยกพิจารณารายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านสถานศึกษา ด้านนักเรียน และด้านการประสานความร่วมมือกัน ส่วนด้านชุมชน อยู่ในระดับมาก
5. ผลกระทบ (Impact) ของโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อแยกพิจารณารายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านสถานศึกษา และชุมชน/ผู้ปกครอง อยู่ในระดับมาก 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านนักเรียน และด้านการดำเนินโครงการ
6. ผลการประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุขของโรงเรียนบึงลัด ปีการศึกษา 2560 ของผู้บริหาร ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Context) 2) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) 3) ด้านกระบวนการ (Process) 4) ด้านผลผลิต (Product) และ 5) ด้านผลกระทบ (Impact) สอดคล้องกับผลประเมินโครงการของนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน ซึ่งประเมิน จำนวน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านกระบวนการ (Process) 2) ด้านผลผลิต (Product) และ 3) ด้านผลกระทบ (Impact)
7. ผลการประเมินภูมิคุ้มกันยาเสพติดและสารเสพติดกับนักเรียน โครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุขของโรงเรียนบึงลัด ปีการศึกษา 2560 พบว่า ภาพรวมของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 นักเรียน จำนวน 21 คน มีภูมิคุ้มกัน คิดเป็นร้อยละ 66.67 และมีภูมิคุ้มกันต่ำ คิดเป็นร้อยละ 33.33 เมื่อพิจารณาแยกเพศชายและเพศหญิง พบว่า นักเรียนเพศชายและเพศหญิง มีระดับภูมิคุ้มกันเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 66.67 และมีระดับภูมิคุมกันต่ำ คิดเป็นร้อยละ 33.33 ไม่แตกต่างกัน โดยนักเรียนของโรงเรียนบ้านบึงลัดไม่มีนักเรียนกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาและสารเสพติด
ข้อเสนอแนะ
1. เชิงนโยบาย
1.1 โครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ในการป้องกัน แก้ปัญหาสารเสพติด การพนัน สื่อลามกอนาจาร และการทะเลาะวิวาทในโรงเรียนเป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นการนำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ วางแผนงานต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุข อย่างแท้จริงและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินงานโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุขต่อไป
1.2 เพื่อให้การดำเนินงานโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพบรรลุเป้าหมายในการที่จะให้โรงเรียนปลอดจากสารเสพติด การพนัน สื่อลามกอนาจาร และการทะเลาะวิวาทอย่างยั่งยืน ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบระดับกระทรวง เขตพื้นที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้กำกับ ติดตาม นิเทศ และติดตามผลการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
1.3 โรงเรียนควรมีนโยบายในการดำเนินงานโครงการอย่างชัดเจน ทั้ง 4 ส่วน คือส่วนของการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด การพนัน สื่อลามกอนาจารและการทะเลาะวิวาท โดยเฉพาะการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและร่วมกันติดต่อประสานการดำเนินงานกับผู้เกี่ยวข้อง นั้นคือ 4 ประสาน 2 ค้ำ ซึ่งหมายถึง ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน และผู้นำชุมชน โดยเฉพาะ 2 ค้ำ คือ ตำรวจ ทหาร ผู้นำท้องถิ่น หรือผู้นำศาสนา ซึ่งอยู่ในท้องถิ่นและชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการอย่างจริงจัง
2. ด้านการปฏิบัติ
2.1 ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ ถึงแม้จะมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด แต่ในตัวชี้วัดการนำนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการป้องกันสารเสพติด อบายมุขของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อดำเนินโครงการได้เหมาะสมมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด จึงควรศึกษารายละเอียดของโครงการเพื่อนำนโยบายมาปฏิบัติ ให้ครอบคลุมแผนการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้า จากผลการประเมินพบว่ามีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ด้านจำนวนบุคลากรเหมาะสม ซึ่งผู้บริหารควรแบ่งกิจกรรมในการรับผิดชอบให้เหมาะสม รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณในแต่ละกิจกรรมให้มีความเหมาะสมและเพียงพอ เพื่อให้การปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ทั้งนี้สถานศึกษาควรขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
2.3 ด้านกระบวนการ อยู่ในระดับมาก ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานแล้วมอบหมายงานให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ กำกับ ติดตาม ควบคุมการดำเนินงานและประเมินผลระหว่างการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามปฏิทินการปฏิบัติงาน
2.4 ด้านผลผลิตของโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด ในตัวชี้วัดสภาพชุมชนใกล้เคียงสถานศึกษาไม่มีแหล่งการพนัน มีผลการประเมินค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก แต่ยังน้อยกว่าตัวชี้วัดอื่น แสดงให้เห็นว่าการดำเนินโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข ยังไม่เกิดผลไปถึงชุมชนมากนัก จึงควรประสานความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุขในชุมชนต่อไป
2.5 ด้านผลกระทบของโครงการ ในตัวชี้วัดผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน พบว่าในบางรายการประเมินเช่น นักเรียนสามารถคิด ตัดสินใจและทำโครงการ/ กิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ตนเองสนใจได้ มีผลการประเมินค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก แต่ยังน้อยกว่าตัวชี้วัดอื่น จึงควรกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถในการคิด การตัดสินใจ กล้าลงมือปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น