การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีในสถานศึกษา
อดุลย์ กองทอง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต ๑
บทนำ
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบันปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของสังคมไทยที่ตกต่ำก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น ปัญหาการว่างงาน หนี้สิน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ส่งผลกระทบ ต่อการศึกษา จึงจำเป็นต้องปฏิรูปและสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ขึ้นใหม่ประเทศไทย มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการหลายประการ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ของสังคมใหม่ ดังปรากฏอยู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งมีสาระสำคัญต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประชาชน ทุกภาคส่วนกับหน่วยงานทั้งหลายของรัฐตามแนวทางประชารัฐภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาลอันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนา ไปข้างหน้าได้อย่างเป็นขั้นตอนจนเกิดความมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืนทั้งในทางการเมืองการปกครองเศรษฐกิจและสังคมตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชกิจจานุเบกษา, ๒๕๖๐ : ๒) การสร้างระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีสำหรับสังคมไทยโดยเน้นการเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามา มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาครัฐมากขึ้น การประกันและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ภาครัฐให้มีการบริหารการปกครองที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบโดยประชาชนมากขึ้น หลักธรรมาภิบาลสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องมีการวางระบบการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการ และการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานของภาครัฐได้โดยเฉพาะผู้นำองค์กรของรัฐต้องยึดถือ และเป็นแบบอย่างในเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริต และอาศัยหลักธรรมา ภิบาลในการบริหารโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นที่ตั้ง (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือน, ๒๕๕๖)
แนวคิดสำคัญ
แนวคิดเรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance) ได้รับความสนใจอย่าง กว้างขวางทั้งองค์การภาครัฐ และภาคเอกชนให้ความสำคัญกับนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ใน การบริหารเพื่อให้บรรลุ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้โดยนำศาสตร์และศิลป์พร้อมด้วย ทรัพยากรทางการบริหารมาใช้ในกระบวนการบริหารได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพในขณะเดียวกันแนวคิดเรื่องการบริหารที่ดีจากต่างประเทศได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยโดย นักคิดนักวิชาการองค์กรพัฒนาต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงการบริหารกิจการ บ้านเมืองและสังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเพื่อกำหนด หลักเกณฑ์ ของสังคมใหม่ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ๒๕๕๙ : ๘-๙) ซึ่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (พ.ศ. ๒๕๔๖) ได้กำหนดหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาล ไว้ทั้งหมด ๖ ประการด้วยกัน คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า โดยกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กำหนดแผนโครงการเพื่อปรับปรุงงานในความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับ หลักธรรมาภิบาลการที่จะทำให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จึงจำเป็นที่ต้องบูรณะและสร้างระบบบริหารกิจการ บ้านเมืองและสังคมที่ดีขึ้นใหม่โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ของสังคม ใหม่ดังปรากฏ ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนซึ่งมีสาระสำคัญคือความพยายามในการสร้าง ระบบการบริหารกิจการบ้านเมือง ที่ดี (สถาบัน The Best Center, ๒๕๖๐ : ๑๔๖)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการ บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง จึงได้วางหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนได้ให้ ความรู้ในภาคทฤษฏีและฝึกปฏิบัติในเรื่องความรู้ทางด้าน การจัดการและการสร้างระบบธรรมาภิบาลในสถานศึกษา เพื่อให้เกิดทักษะประกอบกับเทคนิคในการบริหารงานซึ่ง ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวใน การบริหารนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารงานที่ดีและมีการนำหลัก ธรรมาภิบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานของโรงเรียน อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน (กระทรวง ศึกษาธิการ, ๒๕๔๖ : ๒๕) ในการบริหารงานเขตพื้นที่มีการกระจายอำนาจในทุก ๆ ด้านไปสู่สถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนจึงมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสูงขึ้น และต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประเทศชาติและในการจัดการศึกษาในสถานศึกษาจะสำเร็จตามเป้าหมาย หรือบรรลุวัตถุประสงค์ ของหน่วยงานทางราชการมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารงานด้วยหลัก ธรรมาภิบาลของผู้บริหารโรงเรียน
การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีในสถานศึกษาควรจัดหรือส่งเสริมให้สังคมไทยอยู่บนพื้นฐานของหลักสำคัญอย่างน้อย ๖ ประการ หรือที่เรียกว่า หลักธรรมาภิบาล ประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่าคุ้มทุน โดยเฉพาะหลักการมีส่วนร่วม เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมแสดงความคิด และร่วมในการบริหาร (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมือง และสังคมที่ดีพ.ศ. ๒๕๔๒, ๒๕๔๒) จุดมุ่งหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ และ(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๓ มิได้มุ่งเน้นแต่เพียงเพื่อให้คนได้รับการพัฒนาและเรียนรู้ในด้านวิทยาการ และเทคโนโลยีต่าง ๆ เท่านั้นแต่ต้องการให้คนมีพัฒนาการในด้านวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆไปพร้อม ๆ กับการปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต เพื่อให้สามารถ ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจและสติปัญญา การใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารสถานศึกษาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคม ที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นในสถานการณ์ ปัจจุบันโดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสถานศึกษา และในระดับชั้นประถมศึกษานั้น ถือเป็นการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานในการที่จะสร้างประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาลให้เกิดแก่เยาวชน ครูผู้ปกครอง รวมทั้ง ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งถ้าผู้บริหารสถานศึกษา ระดับประถมศึกษาได้นำหลักธรรมาภิบาลไปใช้อย่างต่อเนื่อง และจริงจังแล้วย่อมจะเกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการสถานศึกษา (อภิญญา อินทฉิม, ๒๕๖๐)
ผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนซึ่งเป็นนิติบุคคล และมีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ รวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาในนามสถานศึกษาและเป็นผู้มีอำนาจ ในการตัดสินใจในการดำเนินกิจการของสถานศึกษาพึงต้องยึดหลักคุณธรรม หลักนิติธรรมในการปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้ร่วมงานเชื่อถือและยอมรับ จากการที่รัฐกำหนดให้มีมาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการ มีการปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจ วิธีการบริหารงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ มีการนำระบบ บริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เอกชนและประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ระบบบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือ ธรรมาภิบาลนับเป็นมิติของกระบวนทัศน์ใหม่ของการบริหารภาครัฐซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การเน้นบทบาทของผู้บริหารงานภาครัฐในฐานะ ที่เป็นผู้ให้บริการที่มีคุณภาพสูงตามที่ประชาชนต้องการสนับสนุนให้เกิดความเป็นอิสระในการบริหารงานแต่ละระดับมากขึ้น การบริหารงานอย่างโปร่งใสมีคุณภาพด้วยระบบธรรมาภิบาล จึงเป็นหัวใจสำคัญยิ่ง ของทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือเอกชนที่ต้องอาศัยการปรับตัว และเตรียมความพร้อม ของประชาชน และผู้บริหารในทุกระดับ (เกษม วัฒนชัย, ๒๕๔๖)
ธรรมาภิบาลจะเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ แต่ด้วยความสลับซับซ้อนและความหลากหลาย ในแต่ละประเทศทำให้การจะสร้างตัวแบบเดียวของธรรมาภิบาลเป็นไปได้ยาก การจะมีตัวแบบในลักษณะ ที่เป็นการตัดเสื้อโหลขนาดเดียวใส่ได้ทั้งหมด (One-Size-Fits-All) นั้นเป็นไปไม่ได้เพราะแต่ละประเทศล้วนแต่มีความแตกต่างในบริบทและประวัติศาสตร์ชาติของตนเอง เช่น สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีในประเทศแถบเอเชียแต่อาจจะไม่เหมาะกับประเทศอื่นในแถบแอฟริกา (Grindle, ๒๐๑๐) ดังนั้น เพื่อที่จะสร้างธรรมาภิบาลที่ดีกว่า (Better Governance) แต่ละประเทศจึงต้องมีความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตและปรับปรุง แนวทางต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละท้องที่ของตน (Park, ๒๐๐๔) มากกว่าการพยายามนำธรรมาภิบาลแบบสากลมาใช้โดยขาดการปรับใช้ หากมองในแง่การแบ่งโครงสร้างองค์การโดยจำแนก ตามหน้าที่แล้ว (Functional Classification) แล้วจะพบว่าองค์การประเภทโรงเรียนโดยทั่วไปมีการบริหาร งานประกอบไปด้วยสี่ส่วนหลัก ๆ คือ การบริหารงานบุคคล บริหารงบประมาณ บริหารวิชาการ และบริหารทั่วไปโดยองค์การประเภทโรงเรียนมีความแตกต่างจากองค์การทั่วๆไป คือ เรื่องการบริหารวิชาการเพราะ ในองค์การประเภท โรงเรียนนั้น งานวิชาการถือเป็นหัวใจของการบริหาร (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, ๒๕๕๓) ถือเป็นงานหลักของการบริหารสถานศึกษาไม่ว่าสถานศึกษาจะเป็นประเภทใด มาตรฐาน และคุณภาพ ของสถานศึกษาจะพิจารณาได้จากผลงานด้านวิชาการ เนื่องจากงานวิชาการเกี่ยวข้องกับหลักสูตรการจัดโปรแกรมการศึกษา และการจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสถานศึกษา (ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์,๒๕๕๓)
อีกแนวความคิดในการการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล (Good governance) คือ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจหลักการสำคัญของธรรมาภิบาลและนำไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาสำหรับการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลนั้น มีหลักการสำคัญ ๘ หลักการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความ โปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล และหลักความมีเหตุผลซึ่งใช้เป็นหลักการทำให้การบริหารงานภายในสถานศึกษาเกิดความสมดุลระหว่าง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับความสุขและความสำเร็จในการทำงานภายในองค์การของตน เกิดความมั่นใจในการบริหารคุณภาพการจัด การศึกษาเพราะยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม (อภิรมย์ สิงนาค และกฤษฎา นันทเพ็ชร, ๒๕๕๗)
บทสรุป
ธรรมาภิบาลแม้จะเป็นหลักการที่ดีแต่การนำไปใช้ในองค์การอื่น ๆ ควรมีการนำไปปรับใช้ให้มาบูรณาการใช้ในการบริหารจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ ในการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้องเหมาะสมกับบริบทขององค์การนั้น ๆ กับการศึกษาการบริหารและการตัดสินใจ มีความถูกต้องก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มารับบริการ รวมทั้งจะสามารถลดความขัดแย้งทั้งต่อผู้มารับบริการและบุคลากรในสถานศึกษาได้เป็น อย่างดีการรับรู้หลักการบริหารจัดการโดยใช้หลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการการศึกษาซึ่งในกรณีของโรงเรียนนั้น ธรรมาภิบาลในโรงเรียนน่าจะประกอบไปด้วยหลักการอย่างน้อย ๘ ประการ คือ หลัก นิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า หลักความมั่นคง และหลักเป้าหมายสอดคล้องต่อสังคม ซึ่งหลักการทั้ง ๘ ประการ จะต้องนำไปใช้บูรณาการในการบริหารงานโรงเรียน ทั้งสี่ส่วนคือ การบริหารวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหาร งบประมาณ และการบริหารทั่วไป ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายจะนำไปสู่การมีผู้เรียนที่มีคุณภาพ คือ เป็นคนดี คนเก่ง และคนมีความสุข
เอกสารอ้างอิง
เกษม วัฒนชัย. ธรรมาภิบาล...บทบาทสำคัญกรรมการสถานศึกษา. รายงานการปฏิรูป การศึกษาไทย,
๒๕๔๖.
กระทรวงศึกษาธิการ. การบริหารสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลกระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ :
กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๖.
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. การบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพฯ : ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ, ๒๕๕๓.
ไพฑูรย์ สินลารัตน์. ผู้นำเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ : กระบวนทัศน์ใหม่และผู้นำใหม่ทางการศึกษา.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓.
ราชกิจจานุเบกษา. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, ๒๕๖๐ : ๒.
อภิรมย์ สิงนาค และกฤษฎา นันทเพ็ชร. การบริหารสถานศึกษาของรัฐตามหลักธรรมาภิบาลในจังหวัด
สมุทรปราการ. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติ ครั้งที่ ๖ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘.
อภิญญา อินทฉิม. นักศึกษาหลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยปทุมธานี ๒๕๖๐.
สถาบัน The Best Center. คู่มือนักวิเคราะห์วิเคราะห์โยบายและแผนปฏิบัติการ. กรุงเทพมหานคร :
เดอะเบสท์เซ็นเตอร์อินเตอร์กรุ๊ปจํากัด, ๒๕๖๐.
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. การปรับใช้สมรรถนะในการบริหารทรัพยากร มนุษย์,
เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องสมรรถนะของข้าราชการ, ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒, ๒๕๔๖.
สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ ๑๒. กรุงเทพมหานคร : สํานักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,
๒๕๕๙.