รายงานผลการวิจัยในชั้นเรียน
เรื่อง การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เรื่อง การประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยเน้นทักษะกระบวนการ
ชื่อผู้วิจัย นางวรินภร สีสัน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี
...
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐาน ความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการเป็นการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเป็นผู้คิด ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ผู้สอนเป็นเพียงผู้กำกับควบคุมให้ผู้เรียนมีการปฏิบัติ ฝึกฝนจนเกิดทักษะ นอกจากนี้การจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการยังเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีคุณธรรม มีศีลธรรม มีการเรียนรู้ที่เกิดจากการบูรณาการความรู้ ความสามารถ มีทักษะและความคิดที่หลอมรวมกัน จนเกิดเป็นคุณลักษณะของผู้เรียนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนด พร้อมที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตที่ทุกคนต้องเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้ผลิต เป็นผู้ปฏิบัติสร้างสรรค์ผลงานและองค์ความรู้ได้ พึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เป็นสมาชิกที่ดีสร้างความสามัคคีกลมเกลียมเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม (กรมวิชาการ.2552 : 11)
จากการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า นักเรียนยังขาดทักษะกระบวนการทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง และขาดความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่เห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้ ใช้เสร็จแล้วก็ทิ้ง โดยไม่มีแนวคิดที่จะนำมาประยุกต์ใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ จึงก่อให้เกิดปัญหาขยะล้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน ผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัย การพัฒนาการเรียนรู้ เรื่อง การประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยเน้นทักษะกระบวนการ เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษา ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน และหลังเรียน การพัฒนาการเรียนรู้ เรื่อง การประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยเน้นทักษะกระบวนการ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ขอบเขตของการวิจัย
1. ตัวแปรต้น
การจัดการเรียนรู้ เรื่อง การประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยเน้นทักษะกระบวนการ
2. ตัวแปรตาม
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่อง การประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้
วิธีดำเนินการวิจัย
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนบ้านเหล็ก จำนวน 31 คน
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน เป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก จำนวน 10 ข้อ
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1. ก่อนการทดลอง ผู้วิจัยชี้แจงหลักการและเหตุผลให้นักเรียนรับทราบ
2. ทำการทดสอบก่อนเรียน (Pre test) โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
3. ทดลองการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการ เรื่อง การประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 31 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 หลังสิ้นสุดการทดลอง ผู้วิจัยได้ทำการสอบหลังเรียน (Post test) โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ชุดเดิมกับการทดสอบก่อนเรียน