บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1 เพื่อศึกษาเทคนิคการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) 2) เพื่อพัฒนาชุดฝึกอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้วยตนเองที่เน้นการเรียนรู้จากบริบทของจังหวัดระยอง สำหรับครูผู้สอนที่ไม่จบวิชาเอก/โทภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 และหาประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อศึกษาผลการใช้ชุดฝึกอบรมของครูก่อนการใช้ชุดฝึกอบรมและหลังการใช้ชุดฝึกอบรม 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูต่อชุดฝึกอบรม 5) เพื่อศึกษาผลการนิเทศ ติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนโดยกระบวนการนิเทศแบบคลินิก ด้วยชุดฝึกอบรม และ 6) เพื่อศึกษาความพึงพอใจ ของครูผู้สอน ต่อการนิเทศ ติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนโดยกระบวนการนิเทศแบบคลินิกด้วยชุดฝึกอบรม กลุ่มตัวอย่างได้แก่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษที่ไม่จบวิชาเอก/โทภาษาอังกฤษ จำนวน 83 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่
แบบสัมภาษณ์คำถามนำกลุ่มสนทนาในการใช้เทคนิคกลุ่มสนทนา ชุดฝึกอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้วยตนเองที่เน้นการเรียนรู้จากบริบทของจังหวัดระยอง สำหรับครูผู้สอนที่ไม่จบวิชาเอก/โทภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 แบบทดสอบการใช้ภาษาอังกฤษในการฝึกอบรม แบบสอบถามความพึงพอใจเกี่ยวกับชุดฝึกอบรม แบบนิเทศ ติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนโดยกระบวนการนิเทศแบบคลินิกของครูที่ใช้ชุดฝึกอบรม แบบสอบถามความพึงพอใจเกี่ยวกับการนิเทศ ติดตามด้วยกระบวนการนิเทศแบบคลินิกในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนของครูที่รับการฝึกอบรม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าทีทดสอบ (t-test) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และพรรณนาความ
ผลการวิจัย พบว่า
1. เทคนิคสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) พบว่า ชุดฝึกอบรมภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสารด้วยตนเองที่เน้นการเรียนรู้จากบริบทของจังหวัดระยองมีความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอน และรูปแบบในชุดฝึกอบรมควรประกอบด้วยจุดประสงค์ โครงสร้างเนื้อหา กิจกรรม สื่อ การฝึกอบรม และ เป็นการฝึกอบรมด้วยตนเอง จำนวน 13 หน่วย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสนทนาในสถานที่ต่างๆ ข้อมูล ในท้องถิ่น และวัฒนธรรมสำคัญในจังหวัดระยอง
2. ชุดฝึกอบรม มีประสิทธิภาพ สูงกว่าเกณฑ์ 83.67/85.70
3. ผลการใช้ชุดฝึกอบรมของครู หลังการใช้ชุดฝึกอบรมสูงกว่าก่อนการใช้ชุดฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของครู ที่มีต่อชุดฝึกอบรม อยู่ในระดับคุณภาพมากที่สุด
5. ผลการนิเทศ ติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนโดยกระบวนการนิเทศ
แบบคลินิกด้วยชุดฝึกอบรมหลังการใช้ชุดฝึกอบรม อยู่ในระดับคุณภาพมากที่สุด
6. ผลการศึกษาความพึงพอใจของครู ที่มีต่อการนิเทศ ติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในชั้นเรียนโดยกระบวนการนิเทศแบบคลินิก ด้วยชุดฝึกอบรม อยู่ในระดับคุณภาพมากที่สุด