บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การใช้โมเดล CIPPI สำหรับการประเมินคุณภาพโครงการระดับโรงเรียน:
กรณีศึกษาโครงการธรรมะชำระใจบายดาลี่ ตามโครงการโรงเรียนคุณธรรม
โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3
Implementation of CIPPI Model for Project Quality Evaluation at
School Level: A Case Study of Moral School Project by using DALI in Banprak Prachasan Secondary School
ผู้ประเมิน นางสาวพัชรี ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์
สถานที่ โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปีที่รายงาน พ.ศ. 2562
รายงานการใช้โมเดล CIPPI สำหรับการประเมินคุณภาพโครงการระดับโรงเรียน: กรณีศึกษาโครงการธรรมะชำระใจบายดาลี่ ตามโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ทำการประเมินตามโมเดล CIPPI (CIPPI Model) มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อประเมินบริบทเกี่ยวกับ ความต้องการจำเป็น ความเป็นไปได้ ความพร้อมของสถานศึกษา และวัตถุประสงค์ของโครงการ 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับ ความเหมาะสมของงบประมาณ ความเหมาะสมของบุคลากร และความเหมาะสมของรูปแบบการจัดโครงการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการเกี่ยวกับ กระบวนการดำเนินงาน การประสานงาน การจัดกิจกรรมในโครงการ และการติดตามโครงการ 4) เพื่อประเมินผลผลิตอย่างรอบด้านเกี่ยวกับ ผลที่เกิดกับนักเรียน ผลที่เกิดกับครู และผลที่เกิดกับชุมชน 5) เพื่อประเมินผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบของโครงการที่ส่งผลต่อความพึงพอใจต่อโครงการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลกระทบของโครงการต่อ นักเรียน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาและโรงเรียน และ 6) เพื่อประเมินความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวม รวมทั้งสิ้น 17 ตัวชี้วัด
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการธรรมะชำระใจ บาย ดาลี่ (DALI) ตามโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 19 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 11 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1-6 จำนวน 50 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1-6 จำนวน 50 คน รวมทั้งสิ้น 130 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น เพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม ข้อคำถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การหาค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา การหาค่าอำนาจจำแนกรายข้อของแบบสอบถาม การหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการประเมิน ตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 17 ตัวชี้วัด ผลการประเมินคุณภาพของโครงการโดยใช้โมเดล CIPPI เป็นดังนี้
1. ผลการประเมินคุณภาพของโครงการด้านบริบท โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูง ตัวชี้วัดความต้องการจำเป็นของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูงที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.56 รองลงมา คือ ความเป็นไปได้ของโครงการ วัตถุประสงค์ของโครงการ และความพร้อมของสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ย 4.35 และ 4.43 และ 4.09 ตามลำดับ 3 ตัวชี้วัด ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูง
2. ผลการประเมินคุณภาพของโครงการด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูง โดยตัวชี้วัดความเหมาะสมของงบประมาณผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูงที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.61 ส่วนตัวชี้วัดที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงมี 2 ตัวชี้วัด คือ ตัวชี้วัดความเหมาะสมของบุคลากร และความเหมาะสมของรูปแบบการจัดโครงการมีค่าเฉลี่ย 4.23 และ 4.02 ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูง โดยตัวชี้วัดกระบวนการดำเนินงาน ผ่านการประเมินอยู่ในระดับสูงที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.57 ส่วนตัวชี้วัดที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงมี 3 ตัวชี้วัด คือ ตัวชี้วัดการจัดกิจกรรมในโครงการมีผลการประเมินอยู่ในระดับสูง (4.44) การประสานงาน (4.32) และการติดตามโครงการ (3.40) ตามลำดับ
4. ผลการประเมินคุณภาพของโครงการด้านผลผลิต โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูง โดยตัวชี้วัดผลที่เกิดกับชุมชน ผ่านการประเมินอยู่ในระดับสูงที่สุด เมื่อพิจารณาผลการประเมินแต่ละตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 3 ตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดผลที่เกิดกับชุมชน มีค่าเฉลี่ย 4.44 ตัวชี้วัดผลที่เกิดขึ้นกับครู มีค่าเฉลี่ย 4.35 และตัวชี้วัดผลที่เกิดกับนักเรียนมีค่าเฉลี่ย 4.18 ตามลำดับ
5. ผลการประเมินคุณภาพของโครงการด้านผลกระทบ ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูงที่สุด โดยตัวชี้วัด 2 ตัวชี้วัดที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงที่สุด คือ ผลกระทบที่เกิดต่อโรงเรียน ( 4.56) ผลกระทบต่อผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ( 4.51) ส่วนตัวชี้วัดที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงมี 1 ตัวชี้วัด คือ ตัวชี้วัดผลกระทบต่อนักเรียน ( 4.44)
6. ผลการประเมินความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ได้ค่าเฉลี่ย 4.41รายการประเมินอยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด 4 รายการ คือ ความพึงพอใจต่อบรรยากาศของโรงเรียนจากผลการดำเนินโครงการ (4.57) ประโยชน์และความคุ้มค่าที่ได้รับจากโครงการ ความภาคภูมิใจกับผลงานหรือพัฒนาการด้านคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน (4.53) วิทยากรทั้งภายในและภายนอกมีความรู้ ความสามารถ (4.50) รายการประเมินอยู่ในระดับความพึงพอใจมาก 6 รายการ
ประเด็นการประเมินคุณภาพของโครงการทั้ง 5 ประเด็น ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยประเด็นด้านผลกระทบ อยู่ในระดับสูงที่สุด ส่วนประเด็นด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านผลผลิต และด้านกระบวนการอยู่ในระดับสูง ตามลำดับแสดงถึงคุณภาพของโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับสูง เฉลี่ยทุกตัวชี้วัด
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร การประเมินคุณภาพของโครงการธรรมะชำระใจบายดาลี่ ตามโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ใช้โมเดล CIPPI สามารถสรุปได้ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินคุณภาพโครงการ เพื่อทราบใน 3 ประเด็น ดังนี้
จุดเน้นเชิงคุณภาพของโครงการ
คุณภาพของโครงการโรงเรียนคุณธรรมสามารถพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบด้านครู ด้านโรงเรียน ด้านผู้บริหาร และด้านนักเรียน ซึ่งถือเป็นสิ่งแสดงถึงประสิทธิผลของโครงการโรงเรียนคุณธรรม ในการประเมินคุณภาพของโครงการธรรมะชำระใจบายดาลี่ ตามโครงการโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์นี้ สามารถสรุปจุดเน้นเชิงคุณภาพของโครงการได้ ดังนี้
1. ครูมีแนวทางในการพัฒนาตนเอง จากการที่โครงการธรรมะชำระใจบายดาลี่ มีจุดเริ่มต้นโดยที่เริ่มจากแนวคิดการหันหน้ามาปรึกษา หารือ พูดคุยกันด้วยเจตคติที่ดี หรือ Growth Mind Set แล้ว จึงใช้กระบวนการค้นหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันตามกระบวนการ 3Q และ DALI ดังนี้ 1) เริ่มจากการกำหนด Q-Goal เป้าหมายคุณภาพร่วม คือ คุณธรรมอัตลักษณ์ตามแนวทางโรงเรียนคุณธรรม โดยเป้าหมายร่วมหรือคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ คือ ความรับผิดชอบ ซึ่งเกิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้ง นักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) ใช้กระบวนการ Q-PLC ของครูในการขับเคลื่อนความร่วมมือผ่านการปลูกฝัง Growth Mind Set ให้ครูมีช่องทางในการร่วมกันสะท้อนคิดอย่างสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างดียิ่ง เห็นได้จากการร่วม PLC ในทุกครั้ง มีกำหนดตารางการ PLC ชัดเจนในทุกสัปดาห์ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ครูส่วนใหญ่จะเข้าร่วม และได้ร่วมกันสะท้อนคิดปัญหาและแนวทางแก้ไขจนเกิดผลผลิต เป็นวิธีการ กระบวนการ สื่อ หรือเครื่องมือเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆของโครงการ 3) นอกจากนี้ยังเกิดการแสวงหาแนวทางการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายร่วมพัฒนา Q-Network ทั้งชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างและพัฒนาบุคลากรนอกเหนือจากกระบวนการ PLC เช่นการเข้าร่วมโครงการอบรมพัฒนาบุคลากรด้านโครงการโรงเรียนคุณธรรม การตั้งเป้าหมายคุณภาพ การสร้าง Growth Mind Set การร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียน หรือการสร้างโอกาสให้ครูได้เผยแพร่ผลการพัฒนาการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมตามเป้าหมายคุณภาพ โดยพบว่า ทำให้เกิดครูแกนนำในกิจกรรมต่างๆของโครงการ ตัวอย่างเช่น ครูแกนนำกิจกรรมสมาธิสร้างจินตนาการ จะมีกระบวนการ คือ ครูร่วม PLC กันเพื่อแก้ปัญหานักเรียนขาดความรับผิดชอบในการเรียน การเข้าห้องเรียน โดยผลจากการร่วมคิดวิเคราะห์ร่วมกันว่าควรส่งเสริมกำลังใจ และความรับผิดชอบด้วยการประชุมและทำความเข้าใจกับนักเรียน ด้วยกระบวนการสมาธิ การร่วมกันคัดเลือกบทความ คลิปวิดีโอ หรือสื่อต่างๆของคณะครูเพื่อนำมาสร้างจินตนาการจูงใจหรือส่งเสริมความรักในตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม จนเกิดเป็นความรับผิดชอบขึ้นในตัวนักเรียน โดยจะมีครูแกนนำเสนอตัวเข้าร่วมกิจกรรมและนำนักเรียนทำกิจกรรมในทุกระดับชั้น แม้กระทั่งครูบรรจุใหม่ หรือครูที่ไม่เคยได้รับโอกาสในการพูดหรือให้โอวาทนักเรียนมาก่อน เห็นได้ว่า กิจกรรมในโครงการนี้สร้างให้เกิดครูแกนนำตามกระบวนการ 3Q ขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่องในโรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์
2. กระบวนการเรียนรู้ของครูที่ได้รับการพัฒนาและได้รับการยอมรับ โดยในโครงการธรรมะชำระใจบายดาลี่นี้ใช้กระบวนการ DALI ในการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับกระบวนการ 3Q คือ กิจกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบ หรือกิจกรรมการส่งเสริมความรับผิดชอบนอกห้องเรียนของคณะครู 1) เริ่มต้นจาก การร่วมกันออกแบบ (Design) แนวทางการจัดการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่จะส่งเสริมความรับผิดชอบของนักเรียนผ่านกระบวนการ PLC ของคณะครู 2) นำแนวทางตามมติที่ร่วมกันออกแบบไปปฏิบัติ (Action) โดยการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมให้แก่นักเรียนในแต่ละสัปดาห์ โดยใช้เครื่องมือจากการร่วมกันออกแบบ 3) จากนั้นนำผลการจัดการเรียนรู้หรือจัดกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning) และร่วมสะท้อนคิดในวง PLC หากพบปัญหาก็ร่วมกันหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข และ 4) นำแนวทางที่ได้สะท้อนคิดและเรียนรู้ร่วมกันไปปรับปรุง (Improvement) การจัดการเรียนรู้และกิจกรรมในครั้งต่อไป จากระบวนการ DALI นี้เองทำให้ครูมีแนวทางการดำเนินกิจกรรมอย่างมีส่วนร่วมในแต่ละสัปดาห์อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ และสามารถจัดเก็บผลการดำเนินงานได้ในแต่ละสัปดาห์ หรือสามารถร่วมกันช่วยเหลือหาแนวทางแก้ไขได้ทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมสมาธิสร้างจินตนาการในแต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละวัน คณะครูระดับชั้นและครูแกนนำจะร่วมสะท้อนคิดกันหลังกิจกรรม เพื่อทวนสอบพฤติกรรมนักเรียนหลังร่วมกิจกรรมจากการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมนักเรียน ที่ทำสมาธิ ดูคลิปวิดีโอ และการสะท้อนคิดของนักเรียน โดยครูจะร่วมกันวางแผนการนำคลิปวิดีโอในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือวันสำคัญต่างๆร่วมกัน เช่น ช่วงวันแม่ หรือการเตรียมตัวเมื่อใกล้สอบ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า กระบวนการ DALI ที่คณะครูใช้เป็นแนวทางร่วมพัฒนานี้สร้างความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้และการจัดกิจกรรม พิจารณาจากความร่วมมือของคณะครูในการดำเนินการและการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกิจกรรม
3. การบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพผ่านการมีส่วนร่วมตามกระบวนการ 3Q และ DALI ส่งผลให้โรงเรียน นักเรียน ครูได้รับรางวัลในด้านคุณธรรมจริยธรรม และได้รับการยอมรับจากชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสะท้อนความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาขึ้นได้ เช่น โรงเรียนผ่านการประเมินโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ระดับ 2 ดาว โรงเรียนได้รับรางวัลนวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี ในด้านการบริหารจัดการโดยกระบวนการ 3Q และ DALI เป็นตัวแทนโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 นำเสนอผลงานนวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี ด้านการบริหารจัดการโรงเรียนต้นแบบคุณธรรมระดับ 3 ดาว โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ ระดับเขตตรวจราชการส่วนกลาง และเขตตรวจราชการที่ 1 คุณครูได้รับรางวัลนวัตกรรมสร้างสรรค์คนดี ด้านการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนต้นแบบคุณธรรมระดับ 3 ดาว โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ ระดับเขตตรวจราชการส่วนกลาง และเขตตรวจราชการที่ 1 นวัตกรรม นักเรียนเป็นฐานครูอาจารย์เป็นทุน และได้เผยแพร่ผลงานในระดับ สพฐ. ปีการศึกษา 2561 และได้รับการตีพิมพ์ผลงานจากโครงการในระดับ สพฐ หรือ OBEC Line คณะครูและนักเรียนได้รับรางวัลชมเชยการประกวดภาพยนตร์สั้นคุณธรรม นอกจากนี้ ผู้บริหารและคณะครูยังได้รับเกียรติและมีโอกาสได้แสดงศักยภาพของครูแกนนำจากการดำเนินโครงการโดยเป็นวิทยากรในระดับโรงเรียน ระดับกลุ่มโรงเรียน และเครือข่ายโรงเรียน เป็นต้น
4. คุณภาพที่เกิดกับนักเรียน มีที่มาจากกระบวนการเริ่มต้นโครงการด้วยการร่วมกันค้นหาเป้าหมายคุณภาพ หรือ Q-Goal ในการกำหนดคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน โดยคำนึงถึงความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมของโครงการทำให้สามารถกำหนดเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการจำเป็น และทำให้เกิดความร่วมมืออย่างดียิ่งเพราะเป้าหมายเกิดจากความต้องการที่สำคัญและจำเป็น ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมนักเรียนในด้านความรับผิดชอบต่อการเรียนที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของครูและนักเรียน ซึ่งสะท้อนผลผลิตของกิจกรรมในโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม พิจารณาได้จากความสะอาดของห้องเรียน บริเวณเขตพื้นที่ของโรงเรียน การเข้าเรียน ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (ONET) ที่ได้รับการพัฒนาอย่างชัดเจน จากลำดับที่ 28 จำนวนโรงเรียนมัธยม 29 โรงเรียนในปีการศึกษา 2559 มาเป็นลำดับที่ 14 ในปีการศึกษา 2560 เหล่านี้ล้วนเป็นผลจากการพัฒนาตนเองของครู และกระบวนการต่างๆที่เกิดอย่างมีส่วนร่วม
ข้อจำกัดของโครงการ
1. กิจกรรมต่างๆในโครงการมีจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการร่วมคิดค้นแนวทางในการส่งเสริมความรับผิดชอบของนักเรียนทั้งความรับผิดชอบต่อตนเองและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยแนวทางการดำเนินกิจกรรมมาจากกระบวนการ PLC ของคณะครู ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนั้นครูจึงต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งในส่วนของการ PLC การอบรมพัฒนาตามหลักสูตรต่างๆ หรือแม้กระทั่งการร่วมกันคิดค้นกิจกรรม สื่อ เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆอย่างหลากหลาย ซึ่งครูแกนนำแต่ละกิจกรรมจะต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จเสร็จทันในแต่ละสัปดาห์ ทำให้กระบวนการ PLC ของโรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ และเร่งด่วน หากไม่แล้วจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือมีแนวทางปรับปรุงอย่างทันท่วงที อาจมีผลให้เกิดการละเลยและหมดความกระตือรือร้นในที่สุด
2. ผู้บริหารและครูแกนนำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ครูบรรจุใหม่ และเผยแพร่ความรู้ แนวคิด แนวปฏิบัติแก่ครูทั่วไปในโรงเรียน เนื่องจากกิจกรรมแต่ละกิจกรรมในโครงการมีความจำเป็นที่คณะครูต้องร่วมคิดร่วมทำ ครูทุกคนต้องร่วมดูแลและส่งเสริมความรับผิดชอบในชั้นเรียนของตนเอง และต้องเข้าร่วม ในกิจกรรมกับนักเรียนในที่ปรึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความเข้าใจตรงกันในการนำไปอบรมดำเนินการกับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอแนะของโครงการ
1. ควรใช้กระบวนการนิเทศติดตามโครงการอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการ PLC เพื่อให้ครูมีโอกาสในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสะท้อนคิด และสร้างบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยดำเนินการแยกกลุ่มกิจกรรมเพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมในการปรับปรุงแต่ละกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ในภาคปลายของปีการศึกษานี้โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์กำหนดให้คณะกรรมการนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรมในเวทีระดมความคิดเห็นของนักเรียนเพิ่มเติม
2. ในส่วนของการได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน ชุมชน หรือสังคมในด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมนั้น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นกระบวนการหนึ่งที่สร้างการยอมรับและการชื่นชมจากภายนอก ดังนั้นต้องดำเนินการพัฒนาส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่กระบวนการดำเนินการตั้งแต่การตั้งคุณธรรมเป้าหมายอย่างมีส่วนร่วม ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน การประเมินผลผลิต และผลกระทบสู่ภายนอกอย่างต่อเนื่อง
3. การได้รับรางวัล ยกย่อง หรือชมเชยนั้นเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของผลการดำเนินโครงการ แต่พฤติกรรมหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในการดำเนินงานของโครงการ ดังนั้น ควรมีการประเมินถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลในเชิงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในที่สุด
4. ควรมีการส่งเสริมให้ครูได้รับการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินกิจกรรมในฐานะแกนนำและขยายผลไปสู่นักเรียนและชุมชนมากยิ่งขึ้น และจัดเวทีให้ครูและนักเรียนได้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรมีการคงไว้ซึ่งบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโครงการ และส่งเสริมให้ครูพัฒนานวัตกรรมการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยสอดแทรกในระดับชั้นเรียนผ่านกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรม/งาน/โครงการ และกิจวัตรประจำวันในโรงเรียน เป็นต้น