ผู้วิจัย นายเกษม อาจเวทย์
รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลพลประชานุกูล เทศบาลเมืองเมืองพล จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนเทศบาลพลประชานุกูล โดยใช้การประเมินรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ตามประเด็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product)
ขอบเขตของการวิจัยที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มที่ให้ข้อมูลตามแบบสัมภาษณ์ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 4 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน 2) กลุ่มที่ให้ข้อมูลตามแบบสอบถาม ได้แก่ ครู จำนวน 68 คน นักเรียน จำนวน 275 คน และผู้ปกครอง จำนวน 287 คน 3) กลุ่มที่ให้ข้อมูลตามแบบสนทนากลุ่ม ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 ระดับชั้นละ 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแบบสนทนากลุ่ม ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เนื้อหาสรุปข้อความคิด
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. ด้านบริบท (Context) พบว่า การประเมินความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับเป้าหมายของโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่เอื้อต่อสุขภาพของนักเรียน และความต้องการของบุคลากรจากการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า การประเมินความพร้อมของวิธีการดำเนินการกับงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และสมรรถภาพบุคลากรที่สนับสนุนการดำเนินงานของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า การประเมินการควบคุมการบริหารโครงการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร การดำเนินโครงการ และการตรวจสอบโครงการ ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต (Product) พบว่า ความสำเร็จของการดำเนินโครงการ
4.1 การดำเนินโครงการตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 10 องค์ประกอบ ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด
4.2. ผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA ) ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประกอบด้วย การมีสุขภาพดี (ดี) การดูแลสุขภาพ (เก่ง) และการมีความสุข (สุข) ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด