ชื่องานวิจัย : การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ โดยใช้ทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม เพื่อ
ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้วิจัย : กรภชา เพ็งรัศมี
ตำแหน่งครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
สังกัด : สำนักการศึกษา เทศบาลนครตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
ปีการศึกษา : 2561
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ โดยใช้ทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ โดยใช้ทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ โดยใช้ทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) แบบแผนการวิจัยที่ใช้ คือ การทดลองแบบ one group pretest-posttest design กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดกะพังสุรินทร์) อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง จำนวน 34 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (cluster ramdom sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ แบบประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมุติฐาน คือ การทดสอบที (t-test) แบบ Dependent Sample และค่าประสิทธิภาพ E1/E2
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ โดยใช้ทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มี 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) เนื้อหาหรือสาระการเรียนการสอน 4) กิจกรรมการจัดการเรียนการสอน และ 5) การวัดและประเมินผล มีกิจกรรมการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมความพร้อม (P : Preparing) ขั้นตอนที่ 2
ขั้นประมวลผล (P : Processing) ขั้นตอนที่ 3 ขั้นสร้างชิ้นงาน (C : Creative task) ขั้นตอนที่ 4 ขั้นการนำเสนอและการประเมินผล (P : Presentation and Evaluation) ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการเรียนการสอนจากผู้เชี่ยวชาญอยู่ในระดับดี (ค่าเฉลี่ย = 4.25 , ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.52) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.14/80.83 ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80/80
2. ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ โดยใช้ทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ โดยใช้ทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.25 , ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.58)