บทคัดย่อ
ชื่อผลงาน การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน
และเทคนิคการใช้ผังกราฟิกร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนรู้และความสามารถในการวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จังหวัดระยอง
ชื่อผู้วิจัย นางสาวปภาวรินท์ รัตน์วิเศษฤทธิ์
ชื่อหน่วยงาน โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร
ปีที่วิจัย 2560
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน และเทคนิคการใช้ผังกราฟิกร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ และความสามารถในการวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ในการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน และเทคนิคการใช้ผังกราฟิกร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียน ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร 2) ศึกษาความสามารถในการวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน และเทคนิคการใช้ผังกราฟิกร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จำนวน 41 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) การจัดการเรียนการสอนโดยมีสมาชิกชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ร่วมปฏิบัติการใช้กระบวนการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนกับผู้วิจัย ทั้ง 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นวิเคราะห์เนื้อหารายวิชา 2) ขั้นวางแผนจัดการเรียนรู้ 3) ขั้นปฏิบัติการเรียนการสอน และ 4) ขั้นสะท้อนความคิด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ และ 2) แบบวัดความสามารถในการวิเคราะห์ ซึ่งมีค่าความเที่ยง 0.89 และ 0.70 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติทดสอบค่าที
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. หลังจากการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน และเทคนิคการใช้ผังกราฟิก ร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. หลังจากการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน และเทคนิคการใช้ผังกราฟิก ร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการวิเคราะห์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05