การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการชั้นเรียน MAN Model
ด้านกายภาพ
M = Motivation in Learning การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
คือ การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในห้องเรียนและนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน
ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ 6 ลักษณะ คือ
1. บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge) เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ
2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล
3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน
5. บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จ
ในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว
ด้านการศึกษา
A = Active Learning การเรียนรู้แบบลงมือทำ(ปฏิบัติ)
คือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ (เน้นผู้เรียนได้ปฏิบัติ) และใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้กระทำ จัดกิจกรรมการเรียนรู้มุ่งให้ผู้เรียนเป็นผู้จัดการความรู้ แสวงหา และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยมีครูคอยสนับสนุนให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมาย ลดการถ่ายทอดเนื้อหาให้กับผู้เรียนเพียงอย่างเดียว โดยมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1.เป็นการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ พัฒนาความความคิดการแก้ปัญหา
จากประสบการณ์ตรง
2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ กำหนดแนวคิด วางแผน และประเมินผลการเรียนรู้
3. ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ สามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง
4. ผู้เรียนได้บูรณาการข้อมูลข่าวสารหรืสาระสนเทศและหลักการไปสู่ไปสู่การสร้างความคิดรวบยอด
ด้านสังคม
N = Network in Participation เครือข่ายในการมีส่วนร่วม
คือ การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ร่วมกันทำให้เกิดการร่วมรับรู้ ร่วมคิด
ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือกระทำ และสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เช่น การสร้างเครือข่ายนักเรียน การสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง การสร้างเครือข่ายกลุ่มโรงเรียน ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะประสานความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน