1. หลักการเหตุผล/ความเป็นมา
ปฐมวัยเป็นวัยแห่งการวางรากฐานของพัฒนาการทุกด้านของบุคคล (ฉันทนา ภาคบงกช.
2528 : 55) โดยเฉพาะพัฒนาการทางสติปัญญา เด็กมีความเจริญเติบโตทางสมองอย่างรวดเร็วมาก
ในช่วง 4 ปีแรกถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ ดังนั้นประสบการณ์ที่เด็กปฐมวัยได้รับจะมีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างความพร้อมสำหรับการพัฒนาในช่วงต่อไป การคิดเป็นความสามารถของสมองที่ประมวลข้อมูลที่ได้จากการรับรู้มาสร้างเป็นองค์ความรู้ในตน ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นได้ตั้งแต่วัยเรียน กระบวนการคิด จึงเป็นสิ่งที่โรงเรียนต้องจัดให้ผู้เรียนทุกระดับชั้น เช่นเดียวกับการศึกษาปฐมวัย ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดใน หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ในการกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย (2560 : 26) สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี เกี่ยวกับเรื่องการคิดในข้อที่ 10ว่า มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย และพัฒนาการเกี่ยวกับกระบวนการคิดของเด็กในแต่ละวัยคือ เด็กอายุ 3 ปี สร้างผลงานตามความคิดของตนเองอย่างง่ายๆ เด็กอายุ 4 ปี พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองหลังจาก ได้รับคำชี้แนะ เด็กอายุ 5 ปี พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเอง ครูปฐมวัยและผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณา ในการจัดประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมการสอนการ คิดให้เหมาะกับเด็กแต่ละวัย โดยนำสาระการเรียนรู้เป็นสื่อกลางในการจัดการกิจกรรมให้กับเด็ก ในลักษณะบูรณาการ ไม่เน้นเนื้อหา การท่องจำ ให้ฝึกทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเด็ก ได้แก่ทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะการคิด ทักษะการใช้ภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เป็นต้นการสอนให้คิดเป็นวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาเพื่อหาสาเหตุของปัญหา ดังที่ โกวิท วรพิพัฒน์ ได้เสนอแนวคิดเรื่องการสอนให้ คิดเป็น โดยตั้งเป็นสมมติฐานขึ้นมาว่า มนุษย์ต้องการอะไร ทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมาย ด้วยการจัดลำดับความคิดออกเป็นขั้นตอนซึ่งมีความเชื่อมโยงและเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน (คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2545 : 45) การจัดกิจกรรมพัฒนาการคิด จึงเป็นบทบาทหนึ่งของครูที่จะต้องจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อฝึกทักษะการคิดให้กับเด็ก โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เป็นผู้สั่งการหรือเป็นผู้ตัดสินใจดังเช่นแต่ก่อน การสอนกระบวนการคิด หรือสอนให้ผู้เรียนคิดเป็นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการคิดนั้นเป็นกระบวนการไม่สามารถมองเห็นได้ง่าย จะเห็นได้ก็จากผลของการคิด (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2541 : 48) การที่ครูจะทำหน้าที่นี้ได้ดีครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องก่อน จึงจะนำไปปฏิบัติกับเด็กได้อย่างเห็นผลและมีประสิทธิภาพ ก่อนอื่นครูจะต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของกระบวนการคิดที่กล่าวถึงในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา 24 (2) เสียก่อนว่าหมายถึงอะไร ทิศนา แขมมณี และคณะ (2547 : 5) ได้ให้ความหมายว่า กระบวนการคิด หมายถึง การคิดที่ต้องดำเนินไปตามลำดับขั้นตอนที่จะช่วยให้การคิดนั้นประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของการคิดนั้นๆ เช่น กระบวนการคิดแก้ปัญหา ในแต่ละขั้นตอนก็ต้องอาศัยทักษะการคิดย่อยๆ อีก จึงจะทำให้กระบวนการคิดนั้นเกิดประสิทธิภาพ__
จากการที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติการสอนระดับอนุบาลปีที่ 1 /2 โรงเรียนอนุบาลแม่ฮ่องสอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 1 พบว่า เด็กคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ ตามวัยไม่ได้ ไม่สามารถจำแนกแต่ละประเภทได้
ดังนั้นผู้ศึกษาในฐานะที่เป็นครูผู้สอนเด็กปฐมวัยระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1/2 จึงได้เล็งเห็นความสำคัญ และสนใจที่การจัดการเรียนการสอนแบบโครงการเพื่อพัฒนาทักษะการคิดให้กับนักเรียนอนุบาลปีที่ 1/2 โรงเรียนอนุบาลแม่ฮ่องสอน
2.วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เด็กมีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ได้
2. เพื่อให้เด็กเปรียบเทียบ จำแนก จัดเรียงลำดับ สิ่งที่ระบุให้ได้
3. เพื่อให้เด็กทำงาน เล่น ร่วมกับเพื่อนได้
3. แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องการพัฒนาทักษะการคิดของเด็กปฐมวัย
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2542 : 3-4) กล่าวว่า การคิดคือ การที่คนๆ หนึ่งพยายามใช้
พลังทางสมองของตนในการนำเอาข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่มาจัดวางอย่างเหมาะสม
เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ เช่น การตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุด และได้เสนอการพัฒนาความสามารถในการ
คิดไว้ 10 มิติ ดังต่อไปนี้
มิติที่ 1 ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) หมายถึง ความสามารถใน
การท้าทายและโต้แย้งข้อสมมุติฐานที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลที่โยงความคิดเหล่านั้น เพื่อเปิดทางสู่
แนวความคิดอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้
มิติที่ 2 ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) หมายถึง
ความสามารถในการสืบค้นข้อเท็จจริง เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง โดยการตีความ
(interpretation) การจำแนกแยกแยะ (classification) และการทำความเข้าใจ (understanding) กับ
องค์ประกอบของสิ่งนั้นและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กัน รวมทั้งเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงเหตุ
และผล (causal relationship) ที่ไม่ขัดแย้งกันระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นด้วยเหตุผลที่หนักแน่น
และน่าเชื่อถือ
มิติที่ 3 ความสามารถในการคิดเชิงสังเคราะห์ (synthesis type thinking) หมายถึง
ความสามารถในการรวมองค์ประกอบที่แยกส่วนกันมาหลอมรวมกันภายใต้โครงรางใหม่อย่าง
เหมาะสม
มิติที่ 4 ความสามารถในการคิดเชิงเปรียบเทียบ (comparative thinking) หมายถึง การ
ค้นหาความเหมือนและ/ความแตกต่างขององค์ประกอบตั้งแต่ 2 องค์ประกอบขึ้นไป เพื่อใช้ในการ
อธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งบนมาตรการ (criteria) เดียวกัน
มิติที่ 5 ความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ (conceptual thinking) หมายถึง
ความสามารถในการนำข้อมูลทั้งหมดมาประสานกันและสร้างเป็นกรอบความคิดใหม่ขึ้นมาใช้ในการ
ตีความข้อมูลอื่น ๆ ต่อไป
มิติที่ 6 ความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) หมายถึง ความสามารถ
ในการคิดออกนอกกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ ทำให้ได้แนวทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
มิติที่ 7 ความสามารถในการคิดเชิงประยุกต์ (appreciative thinking) หมายถึง
ความสามารถในการนำสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เดิมไปใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์ใหม่ได้ และสามารถปรับ
สิ่งที่มีอยู่เดิมให้เข้ากับบุคคล สถานที่ เวลา และเงื่อนไขใหม่ได้อย่างเหมาะสม
มิติที่ 8 ความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ (strategic thinking) หมายถึง ความสามารถ
ในการกำหนดแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่
ต้องการ
มิติที่ 9 ความสามารถในการคิดเชิงบูรณาการ (integrative thinking) หมายถึง
ความสามารถในการคิดเชื่อมโยงในมุมต่าง ๆ เข้ากับเรื่องหลักๆ ได้อย่างเหมาะสม
มิติที่ 10 ความสามารถในการคิดเชิงอนาคต (futuristic thinking) หมายถึง ความสามารถ
ในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการใช้เหตุผลทาง
ตรรกวิทยา สมมุติฐาน ข้อมูลและความสัมพันธ์ต่างๆ ของในอดีตและปัจจุบัน เพื่อคาดการณ์
ทิศทางหรือขอบเขตทางเลือกที่เหมาะสม อีกทั้งมีพลวัตสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน
อนาคต
แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องการจัดประสบการณ์แบบโครงการ
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยวิธีโครงการ เป็นการทำภารกิจที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาของครู ตั้งแต่การคิดโครงงาน การวางแผนดำเนินการ การออกแบบ การลงมือปฏิบัติ รวมทั้งร่วมกำหนดแนวทางการวัดและประเมินผล (กระทรวงศึกษาธิการ,2533:5)
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยวิธีโครงการ เป็นการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนักเรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ภายใต้การแนะนำ การให้คำปรึกษาและการดูแลของครูหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ , 2541:166)
แนวคิดแบบพิพัฒนนิยม (Progressive) ของ John Dewey ได้มีการนำมาใช้ อย่างมากเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มีอิสระ Dewey ได้ชี้ให้เห็นว่า ธรรมชาติของเด็กมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมและต้องการพึ่งพาตนเอง ดังนั้น เด็กควรมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้เรียนรู้จากการกระทำ และมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งแวดล้อม ได้เล่นอย่างอิสระ ได้มีโอกาสช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข จากการเรียนรู้ในโรงเรียนที่เปรียบเสมือนชุมชนจำลองของสังคม (Edwards ; Gandini and Forman, 1993 ; Greenberg, 1995 อ้างอิงใน จิรภรณ์ วสุวัต, 2540 : 59)
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดประสบการณ์แบบโครงการ
วัฒนา มัคคสมัน (2539 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาการพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้การจัด ประสบการณ์แบบโครงการในการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กวัยอนุบาล พบว่า การ
จัดประสบการณ์แบบโครงการสามารถส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับเด็กในกลุ่มทดลอง
ซึ่งการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แนวทางนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาเด็กไปสู่การพึ่งพาตนเอง
จิราภรณ์ วสุวัต (2540 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาการพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมจริยธรรม ทางสังคมของเด็กวัยอนุบาลตามแนวคิดคอนสตรัคติวิส โดยใช้การจัดประสบการณ์แบบโครงการ พบว่า หลังการทดลองใช้โปรแกรมฯ กลุ่มทดลองที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้การสอนแบบโครงการมีคะแนนจริยธรรมทางสังคมด้านกลวิธีการเจรจา เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันระดับ 2 ด้านการให้และการรับประสบการณ์ร่วมระดับ 2 และด้านกลวิธีการเจรจา เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันระดับ 2 สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้การจัดประสบการณ์แบบปกติ
เปลว ปุริสาร (2543 : 48) ได้ศึกษาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบโครงการ พบว่า เด็กปฐมวัยทั้งที่มีระดับความสามารถในการแก้ปัญหาสูงและระดับความสามารถในการแก้ปัญหาต่ำ หลังจากได้รับการจัดประสบการณ์แบบโครงการแล้วมีระดับความสามารถในการแก้ปัญหาสูงขึ้น
4. การดำเนินงาน/กระบวนการ/วิธีการปฏิบัติ
Flow Chart การจัดการเรียนรู้
การพัฒนาทักษะการคิดของเด็กปฐมวัยโดยการจัดประสบการณ์แบบโครงการ เรื่อง ข้าวมีคุณค่า
ขั้นตอนการดำเนินงานการจัดประสบการณ์แบบโครงการ มีดังนี้
ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้นโครงการ
สร้างความสนใจและเริ่มต้นโครงการ เป็นระยะที่สร้างบรรยากาศการเตรียม
ความพร้อมและให้เด็กอภิปรายนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องที่ตนเองสนใจเพื่อค้นหาหัวเรื่องที่เด็กส่วนใหญ่
สนใจ อยากเรียนรู้ร่วมกัน โดยครูจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กคิด แสดงความคิดเห็นร่วมกัน
เลือกหัวเรื่องที่นักเรียนสนใจอยากศึกษาค้นคว้าและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์เดิม และ
นำเสนอความรู้ให้ครูและเพื่อนๆ ด้วยการสนทนา
ระยะที่ 2 ระยะพัฒนาโครงการ
เป็นการนำหัวเรื่องของโครงการมาวางแผนในการศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติตามแผนการที่วางไว้เพื่อหาคำตอบจากคำถามที่เด็กสนใจเสนอ โดยเด็กลงมือปฏิบัติตามโครงการ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุนในการปฏิบัติกิจกรรมในการศึกษาค้นคว้าของเด็ก
ระยะที่ 3 ระยะสรุปและประเมินโครงการ
เป็นขั้นที่เด็กและครูร่วมกันสรุป ประเมินผลโครงการและนำเสนอผลงาน การจัดผลงานจากการทำโครงการให้ผู้อื่นได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโครงการที่เด็กๆ ได้ทำโครงการร่วมกัน
5. ผลการดำเนินงาน และประโยชน์ที่ได้รับ
ผลการดำเนินงาน
ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนอนุบาลแม่ฮ่องสอน นักเรียนชั้นอนุบาล 1/2 จำนวน 27 คน ได้รับการจัดประสบการณ์แบบโครงการเพื่อพัฒนาทักษะการคิดของเด็กปฐมวัย ซึ่งได้รับผลสำเร็จตามรูปแบบวิธีการปฏิบัติที่ดีส่งผลต่อผู้เรียนดังนี้
1.จากการจัดประสบการณ์แบบโครงการหลังการจัดประสบการณ์เด็กทุกคนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นก่อนการจัดกิจกรรม
2. จากการจัดประสบการณ์แบบโครงการหลังการจัดประสบการณ์เด็กทุกคนมีทักษะการคิดด้านเปรียบเทียบ จำแนก จัดเรียงลำดับ สิ่งที่ระบุให้มีค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นก่อนการจัดกิจกรรม
3. เด็กทุกคนทำงาน เล่น ร่วมกับเพื่อนได้
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. เด็กมีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ได้ เปรียบเทียบ จำแนก จัดเรียงลำดับ สิ่งที่ระบุให้ได้
2. ครูมีเทคนิค วิธีการจัดประสบการณ์ที่หลากหลายมาพัฒนาเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย
3.เด็กเกิดความสนุกสนานและทำงาน เล่น ร่วมกับเพื่อนได้
6. ปัจจัยความสำเร็จ
6.1 นักเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการร่วมกิจกรรมเกิดความสนุกสนานกับการเล่นเกมและเกิดทักษะการคิดสำหรับเด็กปฐมวัย
6.2 ผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครองให้ความร่วมมือพร้อมทั้งสนับสนุนเป็นอย่างดีในการจัดกิจกรรมทั้งด้านงบประมาณและให้ขวัญกาลังใจเป็นอย่างดี
6.3 การวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบทาให้ดาเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์
7. บทเรียนที่ได้รับ
7.1 เด็กปฐมวัยมีทักษะการคิดดีขึ้นหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้การจัดประสบการณ์แบบโครงการ
7.2 เด็กเปรียบเทียบ จำแนก จัดเรียงลำดับ สิ่งที่ระบุให้ได้
7.3 เด็กทำงาน เล่น ร่วมกับเพื่อนได้
8. การเผยแพร่/การได้รับการยอมรับ และ/หรือรางวัลที่ได้รับ
จัดนิทรรศการแสดงผลงานระดับปฐมวัย และเผยแพร่เอกสารแผ่นพับประชาสัมพันธ์โรงเรียน ในการประชุมผู้ปกครอง และการจัดกิจกรรมเปิดบ้านวิชาการ