บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบท ปัจจัย กระบวนการ และผลผลิตการจัดการพัฒนาศักยภาพของเด็กพิเศษเรียนร่วม โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ของ Daniel Stufflebeam กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 10 คน คณะกรรมการเด็กพิเศษเรียนร่วม จำนวน 6 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียนพิเศษจำนวน 55 คน และผู้ปกครอง จำนวน 55 คน รวมทั้งหมด 139 คน ใช้เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล จำนวน 7 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 แบบประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) ด้านบริบท ฉบับที่ 2 แบบประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) ด้านปัจจัย ฉบับที่ 3 แบบประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) ด้านกระบวนการ ฉบับที่ 4 แบบประเมินโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) ฉบับที่ 5 แบบประเมินการพัฒนาเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) ฉบับที่ 6 แบบประเมินการเข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการของโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) และฉบับที่ 7 แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) รวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง นำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์ โดยใช้สถิติค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เทียบกับค่าเฉลี่ยเกณฑ์การวัดมากกว่า 3.50 ถือว่าผ่านการประเมิน
สรุปผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
2, ผลการประเมินด้านปัจจัย (Factors Evaluation) โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation)
4.1 ผลการประเมินกรอบงานชีท (SEAT Framwork) โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4.2 ผลการประเมินการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4.3 ผลการประเมินการร่วมการแข่งขันวิชาการของนักเรียนพิเศษ โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
4.4 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework) โรงเรียนบ้านเขาแดง (ราษฎร์อุปถัมภ์) โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
จากผลการประเมินข้างต้น ผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปประยุกต์ใช้ต่อผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานโครงการเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติ ดังนี้
1.1 รูปแบบของการจัดการเรียนร่วมนั้น เด็กที่มีความต้องการพิเศษควรได้มีโอกาส เข้าร่วมสังคมกับเด็กปกติให้มากที่สุด อย่าพยายามจัดการเรียนร่วมแบบแยกออกจากเด็กนักเรียนปกติ ซึ่งจะทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษอยู่รวมกลุ่มกันเองตลอดเวลา ไม่แตกต่างกับการส่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนในโรงเรียนเฉพาะทางนั่นเอง
1.2 เด็กที่มีความต้องการพิเศษที่จะรับเข้ามาเรียน ถ้าเป็นไปได้ควรมีการคัดกรองและคัดเลือกให้มีระดับของความบกพร่องที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เนื่องจาก บางครั้งเด็กเหล่านี้จำเป็นต้องเรียนเป็นกลุ่มหรือทีมเดียวกัน เด็กที่มีความบกพร่องแตกต่างกันมาก จะมีผลทำให้เกิดปัญหาทางการเรียนรู้ และต่อพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้ อาจทำให้ด้านการบริหารจัดการจะยิ่งซับซ้อนและเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น
1.3 การจัดโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษเรียนร่วมโดยใช้โครงสร้างซีท (SEAT Framework)นั้น ก่อนที่จะจัดตั้งโครงการแม้จำเป็นต้องมีการสำรวจความพร้อมหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะความพร้อมด้านบุคลากร ด้านสถานที่ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการดำเนินโครงการ ได้แก่ บุคลากรครูผู้สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะต้องมีความเข้าใจในการสอน มีการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัด นอกจากนี้ ครูในชั้นเรียนปกติควรจัดการอบรมให้ด้วย เพื่อให้ครูในชั้นเรียนปกติมีความเข้าใจเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากยิ่งขึ้น เปิดใจรับและพร้อมที่จะช่วยพัฒนาเด็กเหล่านั้นต่อไป
1.4 การส่งต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติ ควรส่งเข้าเรียนร่วมในแต่ละห้องไม่เกิน 2 คน เพราะถ้าส่งเด็กไปจำนวนมากเกินไป จะเป็นปัญหาต่อครูในห้องเรียนปกติ และถ้ามีจำนวนมาก เด็กกลุ่มนี้จะรวมกลุ่มกันเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยกันไม่เข้ากลุ่มเด็กปกติ อาจทำให้ขาดการเรียนรู้ทางสังคมร่วมกับเด็กปกติ อาจมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้