ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ตามค่านิยมหลัก
ของคนไทย 12 ประการในโรงเรียนราษฎร์บำรุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1
ชื่อผู้ประเมิน : ยศพล ชาติโรจันทร์
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2560
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ในโรงเรียนราษฎร์บำรุง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ประเมินโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบท (Context Evaluation) เกี่ยวกับเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของการดำเนินโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ ความเหมาะสมของกิจกรรม และความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า ( Input Evaluation) เกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ สถานที่ และความเพียงพอของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ 3) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับการเตรียมการ/ การสร้างความตระหนักรับรู้ การวางแผนการดำเนินกิจกรรม การดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดไว้ การนิเทศกำกับติดตามการดำเนินงาน การประเมินผลการจัดกิจกรรม และการสรุปและรายงานผลโครงการ 4) ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) ในด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนเกี่ยวกับค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ และด้านความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนราษฎร์บำรุง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ในปีการศึกษา 2560 รวมทั้งสิ้น จำนวน 151 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 95 คน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน 2) ครู จำนวน 6 คน 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 - 6 จำนวน 45 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 36 คน 5) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามประเมินบริบทของโครงการ จำนวน 4 ตัวชี้วัด ข้อคำถามจำนวน 30 ข้อ ฉบับที่ 2 แบบสอบถามประเมินปัจจัยนำเข้า จำนวน 4 ตัวชี้วัด ข้อคำถามจำนวน 22 ข้อ ฉบับที่ 3 แบบสอบถามประเมินกระบวนการ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ข้อคำถามจำนวน 42 ข้อ ฉบับที่ 4 แบบสอบถามประเมินผลผลิตเกี่ยวกับค่านิยมหลัก 12 ประการของนักเรียน จำนวน 12 ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดละ 10 ข้อ รวมข้อคำถามจำนวน 120 ข้อ ฉบับที่ 5 แบบสอบถามประเมินความพึงพอใจของ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ ข้อคำถามจำนวน 20 ข้อ
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows 16.0 ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
โครงการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ในโรงเรียนราษฎร์บำรุง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 มีผลการประเมินสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด โดยตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัวชี้วัดพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด โดยความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ ความต้องการจำเป็นของโครงการ และความเหมาะสมของกิจกรรมในการดำเนินโครงการ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมมีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัวชี้วัดพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด โดยด้านสถานที่มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือด้านสื่อและวัสดุอุปกรณ์ ด้านบุคลากร และด้านงบประมาณ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด โดยตัวชี้วัดทั้ง 6 ตัวชี้วัด พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุด ทุกตัวชี้วัด ด้านการเตรียมการ/ การสร้างความตระหนักรับรู้มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการวางแผนการดำเนินกิจกรรม ด้านการสรุปและรายงานผลโครงการ ด้านการประเมินผลการจัดกิจกรรมโครงการ ด้านการดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดไว้ และด้านการนิเทศกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการ ตามลำดับ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพบว่า ในภาพรวมนักเรียนโรงเรียนราษฎร์บำรุง มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ผ่านเกณฑ์การประเมิน ที่กำหนด และอยู่ในระดับมากที่สุด โดยค่านิยมด้านการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีผล การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ การรักษาวัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงาม และคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ตามลำดับ และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการดำเนินงานโครงการพบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และอยู่ในระดับมากที่สุด
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ในโรงเรียนราษฎร์บำรุง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผล การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ