ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ตามหลักปรัชญา
ของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม
ผู้รายงาน นายศักดา บาลศิริ
ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม
สังกัดสำนักการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ปีที่ดำเนินการ 2559-2561
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาเรื่อง รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม 3) เพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม และด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 ศึกษาสภาพและปัญหาการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนการใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม และตอนที่ 4 การนำรูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้จริงกับโรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองโรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ปีการศึกษา 2560 ผู้วิจัยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของ Krejcie& Morgan และใช้วิธีการสุ่มแบบง่าย Simple random sampling ด้วยการจับฉลาก (บุญชม ศรีสะอาด. 2545 : 43) ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหารครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 24 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน นักเรียน จำนวน 214 คน และผู้ปกครอง จำนวน 214 คน รวมทั้งสิ้น 466 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นต่อการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ (บุญชม ศรีสะอาด. 2545 : 103) สอบถามก่อนและหลังการใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน คือ ค่า t-test
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลศึกษาการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ตามความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองโรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ก่อนการใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาพบว่ารวมทุกด้าน อยู่ในระดับปานกลาง
2. การดำเนินการตามกลยุทธ์ โครงการ/กิจกรรมต่างๆ หลังจากการใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม
2.1 กลยุทธ์ที่ 1 กินดี อยู่ดี (ด้านเศรษฐกิจ) พบว่า นักเรียนในโรงเรียนเห็นคุณค่าของ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้คนไทยนำมาปฏิบัติใช้ในการดำรงชีวิต สามารถเลือกกิจกรรมการเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง ปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบสนองกับบริบท และสภาพแวดล้อม ปัญหาของสังคมในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ ปฏิบัติงานจริงในฐานกิจกรรม ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพเป็นของตนเองได้ การเรียนในฐานกิจกรรมผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความชอบและความสมัครใจของตนเอง ไม่มีการบังคับ มีครูประจำฐานคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ และคอยมอบหมายงานให้นักเรียน มีความรู้ ความเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้กิจกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพึ่งตนเองจะส่งผลต่อคุณภาพการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น
2.2 กลยุทธ์ที่ 2 รู้รักสามัคคี มีวินัย (ด้านสังคม) พบว่า นักเรียนไม่ทะเลาะกัน ไม่พูดคำหยาบ คนโตไม่รังแกคนเล็ก รู้จักแบ่งปัน มีระเบียบวินัย เคารพกฎ กติกาของสังคม เคารพสิทธิ์ของผู้อื่น และรู้จักใช้สิทธิและบทบาทหน้าที่ โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาที่ปลอดยาเสพติดโดยสิ้นเชิง
2.3 กลยุทธ์ที่ 3 สืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม (ด้านวัฒนธรรม) พบว่า นักเรียนปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อผู้อื่น เป็นต้นแบบที่ดีแก่น้องๆ และแม่พิมพ์ความดี และให้ความสำคัญต่อกิจกรรมการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้นักเรียนติด 0 ร มส. ลดลงและจบการศึกษาระดับการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ครูและบุคลกรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ยังมีความภาคภูมิใจในความสำเร็จของนักเรียน โดยมาร่วมแสดงความยินดีในงาน วันแห่งความสำเร็จ เป็นจำนวนมาก
2.4 กลยุทธ์ที่ 4 โรงเรียนสะอาด ปราศจากขยะ (ด้านสิ่งแวดล้อม) พบว่า นักเรียนความรู้และจิตสำนึก จัดเก็บแยกขยะตามประเภท มีการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน ขยายผลการดำเนินโครงการ จังหวัดสะอาด โคราชไร้ขยะ ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ภายนอกโรงเรียน นอกจากนี้นักเรียนยังมีสัมมาทิฐิ ใฝ่เรียนรู้ รักการอ่าน ปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร มีความรักปรารถนาดี ช่วยเหลือ แย้มแจ่มใส อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน น้องเคารพพี่ รักและภูมิใจในโรงเรียน รับผิดชอบ ช่วยกันดูแล รักษา พัฒนาอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมส่วนรวม และสาธารณสมบัติต่อเนื่องสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในโรงเรียนสะอาดปลอดภัย มีบรรยากาศร่มรื่นเป็นธรรมชาติ ดูเรียบง่าย ปราศจากสื่อหรือสิ่งของที่กระตุ้นให้ต้องการเสพสิ่งเสพติด และอบายมุข สิ่งมอมเมาต่างๆ
3. ผลการวิเคราะห์การพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหลังการใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ตามความคิดของครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง พบว่ารวมทุกด้าน มีค่าเฉลี่ยมาก
4. ผลการเปรียบเทียบผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนหนองบุญมากพิทยาคม รวมทุกด้านและรายด้านพบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05