ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย : นางปราณี ละครหาญ
หน่วยงาน : โรงเรียนปรางค์ทองวิทยา อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น
ปีที่ศึกษา : 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 4) เพื่อประเมินและรับรองรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนปรางค์ทองวิทยา อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2559 ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ 3) แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ จำนวน 3 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติทดสอบ t-test แบบ Dependent Samples
ผลการวิจัยพบว่า
1. การวิเคราะห์ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า
การจัดการเรียนรู้ยังมุ่งเน้นความคิดรวบยอดในเนื้อหาบทเรียน ขาดโอกาสในการคิดสังเคราะห์เพื่อ
เชื่อมโยงและสร้างความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งการคิดหาคำตอบด้วยวิธีการที่หลากหลายตามแนวคิดใหม่
ที่แตกต่างน่าสนใจ นักเรียนยังขาดความมั่นใจในตนเองและขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้นเรียนที่
เชื่อมโยงให้มีแรงจูงใจ และความพร้อมนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์ในการเรียนวิทยาศาสตร์ให้บรรลุผล
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีองค์ประกอบ ดังนี้
1) หลักการ แนวคิด ทฤษฎีพื้นฐาน 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน โดยมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4
ขั้น ประกอบด้วย 1) ขั้นเผชิญปัญหา 2) ขั้นสังเคราะห์และเชื่อมโยงความรู้ 3) ขั้นบ่มเพาะความคิด
และ 4) ขั้นประเมินคุณค่าของความรู้ ซึ่งผลการศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้
เมื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพจากคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีค่าเท่ากับ 78.86/76.13 และเมื่อ
วิเคราะห์ประสิทธิภาพจากคะแนนความคิดสร้างสรรค์ มีค่าเท่ากับ 75.69/75.50
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า 1) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัด
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ที่พัฒนาขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์หลังเรียน
สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ผลการประเมินและรับรองรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผลการวิเคราะห์การประเมินเพื่อรับรองรูปแบบจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดและสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ