การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
สมศักดิ์ ปรากฏมาก
Somsak Prakotmak
โรงเรียนครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 3) ศึกษาผลของการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ ที่มีต่อการพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 4)ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนครบุรี ภาคเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 28 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 6 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าทีแบบไม่อิสระ (t-test แบบ dependent-samples) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ มีประเด็นที่ค้นพบ ดังนี้
1.1 ทักษะการอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศหรือเป็นภาษาที่สอง ดังนั้นผู้สอนจึงต้องหาวิธีการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการอ่านเพื่อความเข้าใจ และมีทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ตรงตามความมุ่งหมายของหลักสูตรและนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ และใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้เพื่อการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
1.2 ผลจากจากการสนทนากลุ่มกับครูผู้สอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนครบุรี จำนวน 10 คน สามารถสรุปสาระสำคัญได้ 2 ประการ ดังนี้
1) สาเหตุที่ทำให้ผู้เรียนขาดทักษะในการอ่านเพื่อความเข้าใจเนื่องมาจากการที่ผู้สอนยังใช้วิธีสอนที่ไม่เหมาะสม ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานอยู่ในระดับต่ำ ผู้เรียนไม่เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษและขาดโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน
2) การจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ สามารถช่วยพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจได้ เพราะเนื้อหาในการเรียนมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับสาระการเรียนรู้จากกลุ่มวิชาอื่น ๆ และเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ในลักษณะองค์รวม อีกทั้งกระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบจะมุ่งเน้นการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ของตนเองได้จากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายและมีคุณค่า ผู้เรียนสามารถนำเนื้อหาและทักษะที่เรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (ELCRE Model) มีความสอดคล้องกันในทุกองค์ประกอบ และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากมีองค์ประกอบ คือหลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนการสอน ระบบสังคม หลักการตอบสนอง สิ่งสนับสนุนเงื่อนไขของการนำรูปแบบไปใช้ และผลที่เกิดจากการใช้รูปแบบ โดยมีกระบวนการจัดการเรียนการสอน 5ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นตรวจสอบความรู้เดิมและเร้าความสนใจ (Eliciting and Engagement: E) 2) ขั้นเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning and Sharing: L) 3) ขั้นสรุปและสร้างองค์ความรู้ (Concluding Ideas: C) 4) ขั้นสะท้อนผลการเรียนรู้ (Reflecting: R) และ 5) ขั้นประเมินผลการเรียนรู้ (Evaluation: E)
3. ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนครบุรี มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบสอดแทรกตามทฤษฎีโซเชียลคอนสตรัคติวิสต์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก