บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยมโดยดำเนินการวิจัยแบบวิจัยและพัฒนา(Research and Development)แบ่งขั้นตอนการดำเนินการวิจัยออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1การศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการพัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 2 การพัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3การทดลองใช้และหาประสิทธิภาพของคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ ระยะที่ 4 การประเมินผลการใช้คู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอน ในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นจำนวน 55 คน ได้มาโดยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เป็นคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยมด้วยวิธีผสมผสาน 2 วิธี จากการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Off line)และประยุกต์ใช้การประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) ของแดเนียลแอลสตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam)
ผลการวิจัย พบว่า
1. การประเมินสภาวะแวดล้อม โดยการรวบข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการของครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ตำรา งานวิจัย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นำมาวิเคราะห์สรุปได้ว่า วัตถุประสงค์ของคู่มือการจัดการเรียนรู้คือ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการปฏิบัติการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลักสูตรมีเนื้อหา 6 หน่วยการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนเข้าร่วมการอบรม จำนวน 55 คน และศึกษาตามคู่มือการจัดการเรียนรู้
2. การประเมินปัจจัยเบื้องต้น ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องขององค์ประกอบคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้แก่ ความสอดคล้องของหัวข้อในคู่มือการจัดการเรียนรู้กับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม และความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมกับแบทดสอบ ผลปรากฏว่า มีดัชนีความสอดคล้องกันสูง ทำให้ร่างคู่มือมีความเป็นไปได้และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของครูผู้สอน โดยนำคู่มือรวมทั้งเครื่องมือต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินแล้วนำไปทดลองนำร่องใช้ ปรากฏว่า คู่มือมีคุณภาพสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้
3. การประเมินกระบวนการ เมื่อนำคู่มือไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย พบว่า คู่มือมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 93.89/87.97 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80/80 ที่ตั้งไว้ และค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจของครูที่มีต่อคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า มีความพึงพอใจโดยรวมในระดับมากที่สุด
4. การประเมินผลผลิต โดยได้ติดตามผลการปฏิบัติการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครู ผลปรากฏว่า มีคะแนนการปฏิบัติการสอนโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้บริหารที่มีต่อคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผลปรากฏว่า มีความพึงพอใจต่อคู่มือการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียน ผลปรากกฎว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
คำสำคัญ : การพัฒนาคู่มือ, การจัดการเรียนรู้,หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง