ผู้ศึกษาค้นคว้า นายวาเลนไทม์ เอี้ยงชะอุ่ม
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนเทศบาลวัดดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์การเขียนความเรียงวิชาภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ด้วยวิธีการเรียนโดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูน โดยมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 ซึ่งเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเขียนความเรียงโดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูน ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูน
การศึกษาผลสัมฤทธิ์การเขียนความเรียง โดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาลวัดดอนไก่ดี (สังวรจันทสรราษฎรวิทยา) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 160 คน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/5 จำนวน 31 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูนการเขียนความเรียง 2) แผนการจัดการเรียนรู้การเขียนความเรียง 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเขียนความเรียง และ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย (x̄ ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่า t -test แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหาแบบ (Content Analysis)
ผลการศึกษา พบว่า
1. ประสิทธิภาพแบบฝึกการศึกษาผลสัมฤทธิ์การเขียนความเรียง โดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่ากับ 76.71/79.14 เป็นไปตามเกณฑ์ 75/75
2. ผลสัมฤทธิ์การเขียนความเรียง โดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. นักเรียนมีความคิดเห็นต่อการสอนโดยใช้แบบฝึกประกอบภาพการ์ตูน พบว่า แบบฝึกเป็นสิ่งแปลกใหม่กับนักเรียน ช่วยพัฒนาการเขียนให้ดีขึ้นทั้งทางด้านกระตุ้นความคิดในการเขียน ทำให้เขียนเรื่องราวได้หลากหลาย ช่วยให้นักเรียนเขียนเรียงลำดับเรื่องราวให้เป็นไปตามเหตุการณ์ ช่วยให้เขียนเรื่องไม่วกวน ภาพการ์ตูนที่ใช้ประกอบแบบฝึก พบว่า สื่อความได้ชัดเจน เนื้อหาที่ใช้ในแบบฝึกเหมาะสมกับนักเรียน ทางด้านบรรยากาศในการเรียนการสอนนั้นพบว่า บรรยากาศในการเรียนการสอนไม่เครียด นักเรียนได้มีการทำงานแบบร่วมมือกัน