ชื่อเรื่องที่ศึกษา รายงานการสร้างและพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้ศึกษา จุไรวรรณ เอี่ยมสามโคก
สถานศึกษา โรงเรียนปากแพรกวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11
ระยะเวลาที่ศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561
รายงานการสร้างและพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) สร้างและพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนปากแพรกวิทยาคม อำเภอดอนสัก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เนื่องจากโรงเรียนปากแพรกวิทยาคมมีนักเรียนที่เรียนแผนศิลป์ทั่วไป 1 ห้องเรียน จำนวน 10 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย (1) เอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp วิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ รหัสวิชา ง32250 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 4 เล่ม (2) แผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติม รายวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ รหัสวิชา ง32250 จำนวน 17 แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 36 ชั่วโมง (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยเอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 30 ข้อ (4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ ttest แบบ Dependent
ผลการศึกษาพบว่า
(1) เอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.50/89.67 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้
(2) ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังเรียน ด้วยเอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
(3) ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยโปรแกรม Google SketchUp ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า มีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.73, S.D. = 0.10)