นวัตกรรมแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน ควบคู่สื่อทำมือ
1.ความสำคัญของนวัตกรรม
การจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายไว้ชัดเจน ในมาตรา 8 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัตนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (กระทรวงศึกษาธิการ. 2561 : 5) ซึ่งลักษณะดังกล่าวนั้น ครอบคลุมการพัฒนาการของมนุษย์ทุกด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย สติปัญญา สังคมและอารมณ์ ซึ่งเป้าหมายการพัฒนารอบด้านนี้อาจใช้คำสื่อความสั้นๆ เพื่อให้ได้คนดี มีสติปัญญาและมีความสุข ซึ่งเป็นนิยามของการพัฒนาอย่างสมดุลรอบด้านนั้นเอง
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึก ในความเป็นพลเมืองไทย ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้งเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ้งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2561 : 5) จึงกำหนดให้ภาษาไทยอยู่ในกลุ่มทักษะที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ซึ่งมีจุดประสงค์จะให้นักเรียน เรียนภาษาไทยเพื่อเป็นเครื่องมือในการใช้ประโยชน์ต่างๆในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การติดต่อสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ความเพลิดเพลินและประกอบอาชีพ การเรียนการสอนภาษาไทยจึงมุ่งให้นักเรียนมีการพัฒนาการทางภาษาทั้งในด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนตามวัย เน้นความเข้าใจ รักการอ่าน แสวงหาความรู้และมีเหตุผล (กระทรวงศึกษาธิการ. 2561 : 12)
การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบันมิได้มุ่งหวังให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้เพียงอย่างเดียว หากมุ่งหวังให้นักเรียนนำความรู้ ความสามารถไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง สื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารได้เป็นอย่างดี รวมทั้งต้องรักษาภาษาไทยในฐานะที่เป็นสมบัติของชาติด้วย การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย การแจกลูกสะกดคำเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับผู้เรียน หากครูไม่ได้สอนแจกลูกสะกดคำให้กับนักเรียนในระยะเริ่มเรียนการอ่าน นักเรียนจะขาดหลักเกณฑ์การประสมคำทำให้เมื่ออ่านหนังสือในระดับชั้นเรียนที่สูงจะสบสนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือผิด ซึ่งเป็นปัญหามากของนักเรียนไทยในปัจจุบัน ผลจากการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาอื่นๆ เพราะการอ่านเป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การอ่านแบบแจกลูกสะกดคำจะช่วยให้นักเรียนประสมคำอ่านและสามารถอ่านหนังสือได้ด้วยตนเองการสอนแจกลูกสะกดคำควรสอนในช่วงที่นักเรียนยังอ่านหนังสือไม่แตกฉานประมาณช่วงชั้นที่ 1 (กระทรวงศึกษาธิการ. 2561 : 39)
แบบฝึกที่ทบทวนความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่นักเรียนได้เรียนมาแล้ว ทำให้เกิดทักษะและเกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น การฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในการอ่าน การเขียน จึงควรฝึกบ่อยๆ ครูควรหาแบบฝึกอย่างเพียงพอ ใช้สื่อที่หลากหลายและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จะเป็นการช่วยให้นักเรียนเกิดความสนใจและเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้นักเรียนในชั้นเล็กๆ ได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินและสนุกสนาน จากการศึกษางานวิจัยที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเรียนการสอนในเรื่อง การอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำ พบว่า แบบฝึกทักษะเป็นสื่อการสอนที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาทักษะการอ่านและเขียนแจกลูกสะกดคำอาทิงานวิจัยของ ละมูล จันทร์แป้น(2553 : 5) ได้พัฒนาการอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และงานวิจัยของ สติ เรืองสุวรรณ (2550 : 69-74) ที่ทำการศึกษาค้นคว้า เรื่อง ผลการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนและการใช้คำที่มีสระเปลี่ยนรูปและลดรูป กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และงานวิจัยของ อารียา พูนผล (2550 : 65-68) ที่ทำการวิจัย เรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำ สระลดรูป เปลี่ยนรูป วิชาภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งผลการวิจัยทั้งสามเรื่องนี้ พบว่า สอดคล้องกัน คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
จากการประเมินความสามารถในการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 ได้คะแนนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเฉลี่ยร้อยละ 75 ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือ ร้อยละ 80 (รายงานการประเมินคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านโสมน. 2560 : 5) จากปัญหาดังกล่าวพบว่า นักเรียน เรียนไม่เข้าใจ อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ถูกต้อง เกิดความเบื่อหน่ายไม่ชอบการอ่านและเขียนหนังสือ ครูผู้สอนจึงได้สร้างแบบฝึกแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน ควบคู่ สื่อทำมือขึ้น เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน ครูผู้สอนมีความสนใจที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน ควบคู่สื่อทำมือ เพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนให้ถูกต้องและเกิดความแม่นยำในการใช้ภาษาไทยเป็นพื้นฐานในการติดต่อสื่อสารและถ่ายทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป
2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
2.1.วัตถุประสงค์เชิงปริมาณ
2.1.1 เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านแจกลูกสะกดคำ การเขียนคำพื้นฐานของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน จำนวน 10 คน
2.2.วัตถุประสงค์เชิงคุณภาพ
2.2.1 เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านแจกลูกสะกดคำ การเขียนคำพื้นฐานของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน ให้มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80
3. ขั้นตอนการดำเนินงาน
นวัตกรรมนวัตกรรมแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน ควบคู่สื่อทำมือ ได้นำทฤษฎีของ
ธอร์นไดค์ (Thorndike) ซึ่งได้กล่าวว่าการเรียนรู้คือ การที่ผู้เรียนสามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองและได้รับความพึงพอใจจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างดีได้ดำเนินการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตาม กฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Thorndike) ที่สำคัญ 3 กฎ คือ
1. กฎแห่งความพร้อม หมายถึง ผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางกายใจมีการปรับตัวเตรียมพร้อม
มีความตั้งใจความสนใจ และมีทัศนคติอันจะก่อให้เกิดการกระทำขึ้นภาวะที่สมบูรณ์คือการมีวุฒิภาวะ ผู้สอนจะสอนต้องสำรวจและศึกษาความพร้อมของผู้เรียนเตรียมผู้เรียนให้พร้อมก่อนให้การศึกษาจัดบทเรียนสนองต่อความต้องการของผู้เรียน สอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
จากกฎแห่งความพร้อม ผู้สอนได้เตรียมความพร้อมให้ผู้เรียน นำเข้าสู่บทเรียนได้แก่
ปริศนาคำทาย เกมบิงโก
2. กฎแห่งการฝึกหัด หลักการสำคัญของการฝึกมีดังนี้
2.1 การฝึกให้กระทำซ้ำสิ่งเดียวกันในสถานการณ์ที่ต่างกันการกระทำซ้ำซากในสิ่ง
เดียวกัน เหมือน ๆ กัน จะทำให้เกิดความเหนื่อยอ่อน รู้สึกขุ่นเคือง และอารมณ์เสีย ดังนั้นในการฝึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรจะต้องทำแบบฝึกหลาย ๆ แบบ
2.2 ระยะเวลาของการฝึกขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน และสำหรับการฝึกงาน
ทักษะ การฝึกที่มีการพักสลับกันไป ผู้เรียนจะได้มีเวลาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ผลกของการฝึกก่อนที่จะลงมือฝึกต่อไป ส่วนงานที่เป็นงานสร้างสรรค์ การฝึกติดต่อกันไปโดยไม่หยุดจะมีผลดีกว่า เพราะจะทำให้ความคิดต่อเนื่องกันไป
2.3 ทุกครั้งที่ผู้เรียนตอบสนองได้ถูกต้อง จะต้องให้รางวัล หรือให้สิ่งที่ทำความพอใจแก่
ผู้เรียน การฝึกจะมีผลสมบูรณ์หากผู้กระทำนั้นรู้วัตถุประสงค์และมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งที่กระทำนั้นด้วย พร้อมทั้งมีความสนใจและตั้งใจอีกด้วยดังนั้นก่อนการฝึกจะต้องสร้างความอยากที่จะฝึกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถฝึกซ้ำ ๆ ฝึกหลายๆ ครั้ง หรือสามารถเรียนเกินขีด ได้โดยไม่เหนื่อยหน่าย
จากกฎแห่งการฝึกหัด ผู้สอนได้ดำเนินการตามกระบวน ดังนี้
1. ศึกษาเอกสารตำราที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์หลักสูตรเนื้อหาสาระการเรียนรู้ก่อนทำการสร้างแบบฝึกและสื่อทำมือ ตลอดจนให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูในโรงเรียนเป็นที่ปรึกษาช่วยวิเคราะห์และตรวจสอบเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้แบบฝึกและสื่อทำมือที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบฝึกจะเรียนกิจกรรมจากง่ายไปยาก
(รูปภาพศึกษาเอกสาร)
2. ผลิตสื่อทำมือที่หลากหลายควบคู่ไปด้วยทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ มีความกระตือรือร้นสนุกสนานกับการเรียน ทำให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำได้ถูกต้องแม่นยำซึ่งส่งผลให้การเรียนของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3.นักเรียนอ่านแบบฝึกทักษะและเรียนรู้จากสื่อทำมือ ซ้ำๆ หลายครั้ง จากแบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำ แบบฝึกอ่านคำคล้องจอง แบบฝึกอ่านคำสระต่างๆ แบบฝึกอ่านคำพื้นฐาน อ่านนิทาน
ซึ่งจะให้ผู้เรียนอ่านทุกวัน จนเกิดทักษะการอ่านและการเขียน
3. กฎแห่งผล ซึ่งมีหลักการดังต่อไปนี้
3.1 คนจะเรียนได้ดี ถ้าผลตอบสนองของการเรียนนั้นทำให้ผู้เรียนพอใจ และคนเราจะ
เรียนเลวลงถ้าผลการเรียนนั้นทำให้ผู้เรียนรำคาญใจ รางวัลและความสำเร็จจะช่วยส่งเสริมการแสดงพฤติกรรมมากขึ้นและขจัดสิ่งรบกวนออกไปแต่การทำโทษและความล้มเหลวจะลดการกระทำนั้นลงถ้าจะให้เรียนรู้บางอย่าง จะต้องมีรางวัลให้เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการ
3.2 ถ้าต้องการจะให้พฤติกรรมบางอย่างหายไป เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมนั้นจะต้องมี
การทำโทษการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับผลของพฤติกรรมถ้าแสดงพฤติกรรมแล้วนำมาซึ่งความพึงพอใจพฤติกรรมอันนั้นจะถูกเก็บไว้ แต่ถ้าทำแล้วนำมาซึ่งความไม่พึงพอใจ พฤติกรรมอันนั้นจะถูกขจัดทิ้งไป
จากกฎแห่งผล ผู้สอนได้สร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัล ได้แก่ คำชมเชย ขนม อุปกรณ์การเรียนให้กับผู้ที่อ่านและเขียนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้ผู้เรียนมีความสุขและอยากเรียน
4. ผลการดำเนินงาน/ประโยชน์ที่ได้รับ
จากการใช้แบบฝึกแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน ควบคู่สื่อทำมือทำให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำได้ถูกต้องและแม่นยำขึ้น ส่งผลให้นักเรียนมีผลการเรียนที่สูงขึ้นและยังทำให้นักเรียนมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความกระตือรือร้นในการเรียน มีเจตคติที่ดีในเรื่องการอ่านการเขียน ส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน ดังนี้
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน จำนวน 10 คน อ่านแจกลูกสะกดคำ และเขียนคำพื้นฐาน ได้ทุกคน
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน อ่านแจกลูกสะกดคำ การเขียนคำพื้นฐาน มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 85
5. ปัจจัยความสำเร็จ
การประสบผลสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมนั้นได้รับการสนับสนุนจากบุคคลดังนี้คือ
1. ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับคำแนะนำ และสนับสนุนงบประมาณจากผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ขวัญและกำลังในในการสร้างนวัตกรรม
2. คณะครูโรงเรียนบ้านโสมน ได้สนับสนุนในการช่วยผลิตสื่อทำมือ ให้ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ในการสอนจากครูผู้สอนวิชาเอกภาษาไทย คณะครูโรงเรียนทุกคนให้คำปรึกษาช่วยวิเคราะห์ตรวจสอบและแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในการสร้างนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านโสมน ช่วยน้องนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ช่วยผลิตสื่อทำมือ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการฝึกอ่านฝึกเขียนแจกลูกสะกดคำ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่กับน้อง
6. บทเรียนที่ได้รับ
6.1 การสอนการอ่านและการเขียนสะกดคบางครั้ง คำบางคำที่ยากเกินไปสำหรับเด็กที่เรียนช้า เรียนอ่อน ครูควรจะต้องปรับเวลาให้ฝึกอ่าน ฝึกเขียน มากกว่าปกติ และสอนอย่างช้าๆ และหากิจกรรมที่สนุกสนานเพื่อไม่ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ทำให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนมากขึ้น
6.2 ควรมีการฝึกทักษะการอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำนอกเวลาด้วย เช่น เวลาพักกลางวันและให้ทำเป็นการบ้าน เพื่อให้นักเรียนมีทักษาการอ่านและการเขียนได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
7. การเผยแพร่/การได้รับการยอมรับ
จากการสร้างนวัตกรรมแบบฝึกย้ำอ่าน ย้ำเขียน แจกลูกสะกดคำ ควบคู่สื่อทำมือและนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนการอ่านและการเขียนให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วได้นำไปเผยแพร่ในช่องทาง Internet ในเครือข่ายครู ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และนำนวัตกรรมไปใช้ฝึกทักษะการอ่าน การเขียนกับนักเรียนที่เรียนช้า เรียนอ่อน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3