บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านควนมิตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของการดำเนินโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ของโครงการ ความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ภารกิจและเป้าหมายของโรงเรียน และความสอดคล้องของนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับบุคลากรของสถานศึกษา งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และการบริหารจัดการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการ เกี่ยวกับ การวางแผน การดำเนินงาน การนิเทศ ติดตาม และการแก้ไขปัญหาอุปสรรค 4) เพื่อประเมินผลผลิต เกี่ยวกับ ผลการดำเนินโครงการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านควนมิตรในปีการศึกษา 2561 รวมทั้งสิ้น จำนวน 196 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 181 คน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน 2) ครู จำนวน 6 คน 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 2 6 จำนวน 86 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 81 คน 5) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ แบบสอบถามแบบ มาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 9 ฉบับ
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นทุกตัวชี้วัดและภาพรวมของโครงการดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้แก่ ความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าหมาย รองลงมาคือ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ และความต้องการจำเป็นของโครงการ ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ บุคลากรของสถานศึกษา รองลงมา คือ งบประมาณและการบริหารจัดการ และวัสดุอุปกรณ์ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านนิเทศติดตาม ด้านการวางแผน ด้านการแก้ไขปัญหาอุปสรรค มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และด้านการดำเนินงานมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ
4.ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน รองลงมาคือ ด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง และด้านผลการดำเนินโครงการ ตามลำดับ
ผลการประเมินโครงการในภาพรวมพบว่า โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านควนมิตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 อยู่ในระดับมากที่สุด
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากผู้ที่ให้ข้อมูล คือ นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษาขั้นฐาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการจัดการศึกษาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ความคิด มีปัญญา มีวิธีคิด รู้จริง รู้แจ้ง รู้ตลอด รู้เท่าทันตามเหตุผลความเป็นจริง รู้จักคิดวิเคราะห์ บูรณาการองค์ความรู้ ค้นพบทางเลือกเพื่อประยุกต์สู่การปฏิบัติ เกิดทักษะนำไปสู่การดำรงชีวิตที่เหมาะสม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ ความเข้าใจในคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม มีเจตคติที่ดี มีทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงคุณธรรม จริยธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ มีวินัย มีความอดทน อดกลั้น อดออม มีความขยันหมั่นเพียร เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม รู้จักแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ พึ่งตนเองได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ในการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
จากผลการประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านควนมิตร ทั้ง 4 ด้าน คือด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ในด้านย่อยที่มีผลการประเมิน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวม ซึ่งผู้ประเมินได้จัดทำแนวทางการพัฒนาโดยการพิจารณาและให้คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านควนมิตร มีรายละเอียดดังนี้
1. ด้านบริบท
1.1 สถานศึกษาควรนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติในการอยู่ ร่วมกันของทุกคนเพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
1.2 จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของครูและนักเรียน เพื่อให้ร่วมกันปฏิบัติจนเกิดทักษะ ตระหนักในคุณค่าและยึดถือปฏิบัติจนเป็นนิสัย ด้วยความภาคภูมิใจ
1.3 การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน
2. ด้านปัจจัยนำเข้า
2.1 กำหนดโครงสร้างงานที่ชัดเจน ระบุภารกิจ หน้าที่แก่คณะกรรมการบริหารโครงการ โดยร่วมกันจัดทำคู่มือการบริหารโครงการ
2.2 ในการดำเนินโครงการต้องเตรียมสื่อและแหล่งเรียนรู้ให้ครอบคลุมการจัดกิจกรรมตามโครงการ โดยคำนึงถึงความหลากหลาย เพียงพอต่อสมาชิกผู้ร่วมโครงการ
3. ด้านกระบวนการ
3.1 บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในหลักสูตร และการจัดกระบวนการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระวิชา รวมถึงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
3.2 แก้ปัญหาอุปสรรคให้ตรงจุดและทันท่วงทีเพื่อไม่ให้โครงการหยุดชะงักหรือล่าช้า
4. ด้านผลผลิต
4.1 เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินโครงการ ผู้บริหารต้องกำกับติดตามให้มีการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด
4.2 ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ครูต้องยึดถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4.3 ในการจัดกิจกรรมสำหรับผู้เรียน มุ่งเน้นให้เกิดความตระหนักในการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง