ชื่อเรื่องวิจัย การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบซิปปาร่วมกับเทคนิค KWL-Plus เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้วิจัย นางสุภาวดี โพธิปัสสา โรงเรียนสีชมพูศึกษา อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบซิปปา ร่วมกับเทคนิค KWL-Plus เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบซิปปา ร่วมกับเทคนิค KWL-Plus เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนรู้ ดังนี้ 2.1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น 2.2) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ก่อนเรียนและหลังเรียน ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น และ 3) ประเมินการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนการวิจัยมี 4 ระยะ ได้แก่ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ 3) การทดลองใช้ และ 4) การประเมินผล กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/7 ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนสีชมพูศึกษา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 39 คน ซึ่งได้มาโดยใช้วิธีสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random sampling)
เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ 1.1) คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนรู้ และ 1.2) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 18 แผน เวลา 18 ชั่วโมง โดยมีคุณภาพอยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด 2) เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 2.1) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2.2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 2.3) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมุติฐาน โดยใช้สถิติทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบซิปปา ร่วมกับเทคนิค KWL-Plus เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีชื่อว่าCSLA Model มี 5 องค์ประกอบคือ 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) สาระการเรียนรู้ 4) ขั้นตอนการสอน และ 5) การวัดและประเมินผล มีขั้นตอนการสอน 6 ขั้นตอน คือ 1) เตรียมความพร้อม/ตรวจสอบความรู้ (Check knowledge) 2) ค้นหา/แสวงหาความรู้ใหม่ (Seek new Knowledge) 3) สร้างความเข้าใจข้อมูล/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learn in groups) 4) สรุป/จัดระบบความคิด (Conclude)
5) การแสดงผลงาน (Showcase) และ 6) ประยุกต์ใช้/ประเมินผล (Apply) ซึ่งมีคุณภาพเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.67, S.D.= 0.61 )
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังการเรียนเพิ่มขึ้น
3. นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ หลังการเรียนเพิ่มขึ้น
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.57, S.D.= 0.53 ) พบว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้ตามขั้นตอนของรูปแบบการเรียนรู้ ส่งผลให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น
โดยสรุป รูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น สามารถเสริมสร้างให้นักเรียนมีความสามารถในการ
คิดวิเคราะห์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ส่งผลให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูนำรูปแบบการเรียนรู้นี้ ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ต่อไป