บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านธารอารี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 ปีการศึกษา 2560 ในครั้งนี้ ใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model เป็นแนวทางในการประเมินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านธารอารีซึ่งประเมินใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิตของโครงการ โดยกลุ่มผู้ให้ข้อมูลมีจำนวนทั้งสิ้น 96 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรจำนวน 7 คน ผู้ปกครองของนักเรียน 40 คน นักเรียน 40 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินจำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย แบบสอบถามจำนวน 5 ฉบับ และแบบบันทึกข้อมูลจำนวน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติค่าเฉลี่ย (Mean) ร้อยละ (Percentage) ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
1. ผลการพิจารณาการกำหนดกรอบแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ได้กำหนดค่าน้ำหนักของ
ประเด็นการประเมินและตัวชี้วัดในแต่ละด้าน ดังนี้
1.1 ด้านบริบท 10% ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัดได้แก่ ความต้องการความจำเป็นในการ
จัดทำโครงการ 4% ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับกิจกรรมในโครงการ 3% ความชัดเจนของเป้าหมายและองค์ประกอบของโครงการ 3%
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า 20% ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัดได้แก่บุคลากรในการดำเนินโครงการ 7% งบประมาณในการดำเนินโครงการ 6% และวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินโครงการ 7%
1.3 ด้านกระบวนการ 30% ประกอบด้วย 4 ตัวชี้วัดได้แก่ กระบวนการดำเนินงานตามโครงการ 10% การนิเทศ กำกับติดตาม 6% การจัดกิจกรรมดำเนินงานตามโครงการ 6% และการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการดำเนินโครงการ 8%
1.4 ด้านผลผลิต 40% ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัดได้แก่ ความพึงพอใจของผู้บริหารและครูผู้สอน 5% ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 5% ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน 10% ความพึงพอใจของนักเรียน 10% และผลการประเมินด้านคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน10%
2. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงสุดและผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด ซึ่งตัวชี้วัดที่ได้ระดับสูงสุดมี 1 ตัวชี้วัดคือ ความต้องการความจำเป็นในการจัดทำโครงการ(4.36) ส่วนตัวชี้วัดที่ได้ระดับคะแนนสูงมี 2 ตัวชี้วัดคือความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับกิจกรรมในโครงการ(4.29) รองลงมาคือ ความชัดเจนของเป้าหมายและองค์ประกอบของโครงการ (4.24)
3. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงสุดและผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด ซึ่งตัวชี้วัดที่ได้ระดับสูงสุดมี 1 ตัวชี้วัดคือบุคลากรในการดำเนินโครงการ (4.38) ส่วนตัวชี้วัดที่ได้ระดับคะแนนสูงมี 2 ตัวชี้วัดคือ งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการ (4.29) รองลงมาคือ วัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินโครงการ (4.25)
4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงสุดและผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดที่ได้คะแนนในระดับสูงสุด มี 2 ตัวชี้วัด คือ การจัดกิจกรรมดำเนินงานตามโครงการ (4.43) รองลงมาคือ กระบวนการดำเนินงานตามโครงการ (4.38) ส่วนตัวชี้วัดที่ได้คะแนนในระดับสูง มี 2 ตัวชี้วัด คือ การมีส่วนร่วมของบุคลากรในการดำเนินโครงการ (4.32) รองลงมา คือ การนิเทศ กำกับ ติดตาม (4.29) ตามลำดับ
5. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงสุดและผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดที่ได้คะแนนในระดับสูงสุด มี 3 ตัวชี้วัด คือ ผลการประเมินด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์นักเรียน (5.00) ความพึงพอใจของผู้บริหารและครูผู้สอน (4.37) รองลงมาคือความพึงพอใจของนักเรียน (4.34) ตามลำดับ ส่วนตัวชี้วัดที่ได้คะแนนในระดับสูง มี 2 ตัวชี้วัด คือ ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน(4.31) รองลงมาคือความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (4.13) ตามลำดับ
6. ผลการประเมินโครงการโดยภาพรวม พบว่า จากการสรุปผลการประเมินโครงการในภาพรวม ผ่านเกณฑ์ประเมินตามที่กำหนดไว้ โดยผลการดำเนินโครงการอยู่ในระดับสูงสุดได้คะแนนโดยรวม 90.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของประเด็นการประเมินทั้ง 4 ประเด็น พบว่า ผ่านการประเมินเช่นเดียวกัน ซึ่งผลการประเมินทั้ง 4 ประเด็น ในประเด็นด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิตอยู่ในระดับสูงสุด เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดย่อยของประเด็นการประเมินทั้ง 4 ประเด็น จำนวน 15 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัดในจำนวนตัวชี้วัดที่ผ่านเกณฑ์ประกอบด้วย ตัวชี้วัดที่ได้ผลการประเมินอยู่ในระดับสูงสุด 7 ตัวชี้วัด ระดับสูง 8 ตัวชี้วัด
7. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการ
7.1 ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ได้แก่ ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมมีงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบมากนอกเหนือจากงานสอนทำให้ไม่มีเวลาดำเนินกิจกรรมอย่างเต็มที่ นักเรียนบางส่วนขาดระเบียบวินัยขณะเข้าร่วมกิจกรรม ผู้ปกครอง ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและการเอาใจใส่นักเรียนอย่างใกล้ชิด
7.2 ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการได้แก่ โรงเรียนควรมีการมอบหมายงานให้ครูรับผิดชอบอย่างทั่วถึงใช้การกระจายงาน ขณะทำกิจกรรมครูทุกคนควรควบคุมนักเรียนอย่างใกล้ชิดฝึกระเบียบวินัยอย่างสม่ำเสมอ โรงเรียนควรมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ปกครองนักเรียน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม