ชื่อผลงานวิชาการ การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลแพร่
ผู้ประเมิน นางสาวศิริขวัญ ปัดเปา
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อประเมินบริบทโครงการ 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าโครงการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการโครงการ 4) เพื่อประเมินผลผลิตโครงการ กลุ่มประชากรที่ใช้ในการประเมิน ครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน 5 คน ครู จำนวน 79 คน นักเรียนโรงเรียนอนุบาลแพร่ ปีการศึกษา 2560 จำนวนทั้งสิ้น 1,806 คน แยกเป็นนักเรียนชาย 832 คน และนักเรียนหญิง 974 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ บุคลากรโรงเรียน 70 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 โรงเรียนอนุบาลแพร่ ปีการศึกษา 2560 จำนวน 317 คน ผู้ประเมินได้กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคลากร นักเรียนโดยใช้ตารางเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) ใช้วิธีการการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย รวมประชากรที่ใช้ในการประเมินจำนวน 387 คนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ข้อมูลเป็นแบบประเมินโครงการแบบมาตราส่วนประมาณค่า ซึ่งผู้ประเมินสร้างขึ้นมีค่าความเชื่อมั่น ฉบับที่ 1 เท่ากับ 0.85 ฉบับที่ 2 เท่ากับ 0.89 ฉบับที่ 3 เท่ากับ 0.87 ฉบับที่ 4 เท่ากับ 0.91 และฉบับที่ 5 เท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. ด้านบริบทของโครงการ พบว่า บุคลากรโรงเรียนได้แก่ ผู้บริหาร และครู ประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ในภาพรวมมีระดับความสำคัญอยู่ในระดับมาก( x̄ = 4.23)เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตฯ และโรงเรียน ( x̄ =5.00) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการดำเนินการโครงการฯ ( x̄ = 3.81)
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า บุคลากรโรงเรียน ได้แก่ ผู้บริหาร และครู ประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ในภาพรวมมีระดับความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก( x̄ = 4.36) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุนและเป็นผู้นำโครงการ ( x̄ = 4.64) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีบุคลากรจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมมือสนับสนุน (x̄ = 4.19 ) ระยะเวลาในการดำเนินตามโครงการฯ (x̄ = 4.19)
3. ด้านกระบวนการของโครงการ พบว่า บุคลากรโรงเรียน ได้แก่ ผู้บริหาร และครู ประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ในภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.48) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ( x̄ = 4.70) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือความร่วมมือของคณะทำงานตามโครงการ (x̄ = 4.27)
4. ด้านผลผลิตของโครงการ
4.1 ผลการจัดกิจกรรมตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม พบว่า ครู และนักเรียน ประเมินผลการจัดกิจกรรมตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม พบว่า ครู และนักเรียน มีความพึงพอใจต่อโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ในภาพรวมมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด