ชื่อเรื่อง : การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย
ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว
จังหวัดตรัง
ผู้วิจัย : นายอำนวย สุวรรณพัฒน์
ปีที่วิจัย : 2561
ที่ปรึกษา : ดร.นิรอมลี มะกาเจ
ดร.วิทยา เหมพันธ์
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา และแนวทางการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง 2) เพื่อศึกษาผลการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน ในปีการศึกษา 2560 ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว จำนวน 212 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ แบบสอบถามการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. สภาพปัญหา และแนวทางการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาวจังหวัดตรัง
1.1 สภาพและปัญหาการส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่โรงเรียน พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ขาดครูที่มีความรู้เฉพาะทางทั้งด้านอนามัย และวิชาสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ครูมีงานสอนและงานอื่นมาก ทำให้ไม่มีเวลาดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจน้อย ขาดการประสานงานกับหน่วยงานราชการและหน่วยงานอื่น ผู้บริหารสถานศึกษาและครูขาดขวัญ กำลังใจในการดำเนินงานเนื่องจากผู้บริหารต้นสังกัดไม่เห็นความสำคัญของการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการขาดงบประมาณการดำเนินงาน และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่นน้อย
1.2 แนวทางการบริหารเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนควรมีแนวทางการบริหารเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ โดยดำเนินงานตามองค์ประกอบของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ทั้ง 10 องค์ประกอบ ได้แก่ นโยบายของโรงเรียน การบริหารจัดการในโรงเรียน โครงการร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ บริการอนามัยในโรงเรียน สุขศึกษาในโรงเรียน โภชนาการและอาหารที่ปลอดภัย การออกกำลังกาย กีฬา และนันทนาการ การให้คำปรึกษาและสนับสนุนทางสังคม และการส่งเสริมสุขภาพบุคลากรของโรงเรียนตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย
1.3 การพัฒนาระบบการบริหารโรงเรียนระดับปฐมวัยเพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัย ได้ระบบการบริหารที่ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ปัจจัยส่งออก ข้อมูลย้อนกลับ และสิ่งแวดล้อม
1.4 ปัจจัยที่ส่งเสริม และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ พบว่า
1) ปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาให้โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพประสบความสำเร็จ ได้แก่ ภาวะผู้นำและความกระตือรือร้นของผู้บริหารโรงเรียน ความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและการทำงานเป็นทีมของบุคลากรในโรงเรียน การมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน และการสนับสนุนและแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลใกล้เคียง
2) ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน มีองค์ความรู้ในการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพน้อยในระยะแรก ความไม่เต็มใจในการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรบางคนในระยะเริ่มต้น และการเมืองท้องถิ่นให้การสนับสนุนงบประมาณน้อย
2. ผลการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง
การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง พบว่า ในภาพรวมคณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านนโยบายของโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน มีส่วนร่วมมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านสุขศึกษาในโรงเรียน มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก และต่ำสุดคือ ด้านบริการอนามัยโรงเรียน มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมาก
3. ความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลยานตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง
ความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียนระดับปฐมวัย ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านตาขาว เทศบาลตำบลย่านตาขาว จังหวัดตรัง พบว่า ในภาพรวมคณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านบริการอนามัยโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการบริหารชมรมผู้ปกครอง ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการส่งเสริมสุขภาพบุคลากรในโรงเรียน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และต่ำสุดคือ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อสุขภาพ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก