ชื่อผลงาน : รายงานผลการใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านบางมะรวด สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถม ศึกษาปัตตานี เขต 1
ผู้ศึกษา นางสุภา อินทกาญจน์
ตำแหน่ง ครู โรงเรียนบ้านบางมะรวด สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หาประสิทธิภาพชองชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านบางมะรวด สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนบ้านบางมะรวด อำเภอปะนาเระ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน ที่ผู้รายงานเป็นครูผู้สอนและครูประจำชั้น ใช้แบบแผนการศึกษาโดยยึดแบบกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 6 เล่ม 2) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 8 แผน ใช้เวลา 20 ชั่วโมง 3) แบบทดสอบ วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง วัสดุในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลังเรียน จำนวน 40 ข้อ และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 10 ข้อ ดำเนินการศึกษาใน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2560 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติประกอบด้วย ค่าทดสอบประสิทธิภาพ E1/E2 ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1) ผลการทำกิจกรรมระหว่างเรียนซึ่งเป็นค่าประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) มีค่าเท่ากับ 82.05 และผลการทดสอบหลังเรียนซึ่งเป็นค่าประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) มีค่าเท่ากับ 81.04 ดังนั้น ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 82.05/81.04 สอดคล้องกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 19.13 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.97 ส่วนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 32.04 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.05 โดยมีค่าพัฒนาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนเฉลี่ย 13.17
3) ระดับความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่อง วัสดุในท้องถิ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.30 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.14 โดยมีประเด็นนักเรียนมีความรู้และสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีระดับความพึงพอใจสูงสุด และประเด็นครูส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มและรู้จักวิพากษ์วิจารณ์มีระดับความพึงพอใจต่ำสุด
ข้อเสนอแนะ
จากผลการศึกษาระดับความพึงพอใจของนักเรียนพบว่า ประเด็นครูส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มและรู้จักวิพากษ์วิจารณ์มีระดับความพึงพอใจต่ำสุด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ครูอาจจะมุ่งเน้นให้นักเรียนได้มีทักษะด้านเนื้อหาตามกิจกรรมที่ออกแบบไว้มากเกินไป จนส่งผลให้นักเรียนขาดทักษะด้านการใช้ความคิดริเริ่มและการรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ไป ดังนั้น ครูผู้สอนหรือผู้ที่สนใจในการนำไปใช้ ควรให้ความสำคัญในกิจกรรมดังกล่าว โดยออกแบบการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือรู้จักการวิพากษ์วิจารณ์กันภายในกลุ่มให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีทักษะด้านดังกล่าวที่สูงขึ้นต่อไป