บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1.) เพื่อพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 2.) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ก่อนและหลังการเรียนโดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม 3.) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษา คือ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ต่ำ จำนวน 5 คน โดยวิธีเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ 1.ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม 2.แผนการสอนเฉพาะบุคคล 3.แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังการเรียนรู้ 4.การสัมภาษณ์ความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การหาประสิทธิภาพ (E1/E2) การหาค่าที (t-test) ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1.ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 89.00/84.66 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑที่กำหนดไว้ คือ 80/80
2.ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ก่อนและหลังการเรียนรู้ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.จากการสัมภาษณ์นักเรียนเป้าหมายทั้ง 5 คนมีความพึงพอใจมากต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม
บทนำ
ในสภาพการณ์ปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านการดำรงชีวิต การสื่อสาร การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันทำให้มนุษย์จำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้ก้าวทันเทคโนโลยี เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างจะถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบดิจิตอล การสื่อสารข้อมูลต่างๆ นั้นมีเครือข่ายโยงใยกันทั่วโลก มีข้อมูลมากมายมหาศาลรวบรวมอยู่ในเครือข่ายดิจิตอลที่ถูกเรียกว่า อินเตอร์เน็ต (Internet) หรือ เวิลด์ ไวด์ เว็บ (www) เมื่อเกิดการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในสังคมโลก ทำให้ปีพุทธศักราช 2559 ประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ประกาศวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่เรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยบนวิสัยทัศน์ที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรฐษกิจและสังคมในทุกมิติ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่3) พ.ศ.2553 หมวด 9 มาตรา 66 กำหนดว่าเด็กไทยมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้เพื่อให้มีทักษะเพียงพอที่จะ ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะที่ 10 (พ.ศ. 2550-2555) ที่เน้นให้ คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ต่อเนื่องถึงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรมรวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาและบริหารประเทศ(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,2554,หน้า.1)
โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งที่สอง ของประเทศไทยที่จัดการศึกษาแก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หูหนวก หูตึง ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในปริมณฑล การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมุ่งเน้น ให้ผู้เรียนมีความรู้ ควบคู่งานอาชีพ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี (สารสนเทศโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ,2560,หน้า.6) ในสภาพปัจจุบัน พบว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับคนพิการ ในรูปแบบต่างๆ เช่น การติดต่อสื่อสาร การแพทย์ การศึกษา การบริการทางสังคม และการประกอบอาชีพ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของโรงเรียน จึงจัดให้ผู้เรียนในรูปแบบรายวิชาเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นความรู้พื้นฐานทาง คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการประกอบอาชีพ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่การเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินนั้น ส่วนใหญ่พบว่า นักเรียนจะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ และขาดทักษะในการทำสิ่งต่างๆ เนื่องจากสภาพความบกพร่องของนักเรียนทำให้มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนต่ำ ทั้งการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์และรายวิชาอื่นๆ สอดคล้องกับ ผดุง อารยะวิญญู (2542,หน้า.23-24) กล่าวไว้ว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษประเภทหนึ่งที่มีพัฒนาการด้านร่างกาย และมีระดับสติปัญญาเช่นเดียวกับเด็กปกติ จากรายงานการวิจัย จำนวนมากพบว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีระดับความสามารถทางสติปัญญากระจายคล้ายเด็กปกติ โดยบางคนมีสิตปัญญาอยู่ในระดับต่ำ บางคนฉลาด บางคนฉลาดมากถึงขั้นเป็นเด็กอัจฉริยะ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กส่วนมากจะต่ำ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเด็กไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง เสียงของผู้อื่น และเสียงรอบๆตัวทำให้เด็กมีทักษะทางภาษาจำกัดตลอดจนการวัดผลประเมินผลที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันเหมาะที่จะนำมาใช้กับเด็กปกติมากกว่า และยังสอดคล้องกับ จิตรประภา ศรีอ่อนและคณะ (2543) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของเด็กหูหนวกในโรงเรียน พบว่า เด็กหูหนวกมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเด็กปกติทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาการใช้ภาษาและสังคมศึกษาอยู่ในเกณฑ์อ่อนมาก
ผู้รายงานเป็นครูผู้สอนในรายวิชาคอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินนั้น นักเรียนต้องมีความรู้และทักษะทางคอมพิวเตอร์ที่ดี จึงจะประสบความสำเร็จและมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนที่ดี แต่ในปีการศึกษา 2559 ผู้รายงานพบว่านักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 5 คน จากนักเรียนทั้งหมด 11 คน ที่มาเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ มีปัญหาในการเรียนรู้เนื้อหาที่ครูสอนในชั้นเรียน เช่น ไม่เข้าใจในเนื้อหา ดูในสิ่งที่ครูสอนแต่เมื่อลงมือปฏิบัติจะเชื่อมโยงสู่การปฏิบัติไม่ได้ ต้องคอยชี้แนะให้ทำในทุกขั้นตอนแต่เมื่อให้ปฏิบัติด้วยตนเองก็ทำไม่ได้ นักเรียนทั้ง 5 คน มีผลการเรียน ระหว่าง 2.0-2.5 เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา ผู้รายงานจึงได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ของผู้เรียน ประกอบไปด้วย
1.ศึกษาผลการเรียนย้อนหลัง โดยศึกษาย้อนหลัง 1 ปี ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในปีการศึกษา 2558 พบว่า นักเรียนทั้ง 5 คน มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับต่ำ โดยมีผลการเรียน ระหว่าง 2.0-2.5 ทั้ง 5 คน
2.การสัมภาษณ์ครูประจำชั้น พบว่า นักเรียนทั้ง 5 คนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนต่ำในรายวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และคอมพิวเตอร์
3.การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ ในชั้นเรียน จำนวน 2 สัปดาห์ 2 คาบเรียน พบว่า นักเรียนคนอื่นในห้องเรียน เมื่อดูในสิ่งที่ครูอธิบายจะสามารถเชื่อมโยงสู่การปฏิบัติได้ทันที ร่วมกับการชี้แนะเพียงเล็กน้อย แต่นักเรียนทั้ง 5 คน ดังกล่าวเชื่อมโยงสิ่งที่ครูอธิบาย สู่การปฏิบัติไม่ได้ ต้องชี้แนะทุกขั้นตอน ทำให้เกิดปัญหาในชั้นเรียนเนื่องจากครูต้องคอยชี้แนะนักเรียนที่เรียนช้า การสอนดำเนินไปไม่ได้กิจกรรมการสอนหยุดชะงักไม่สามารถบรรลุเนื้อหาตามแผนการสอนได้ เนื่องจากการเรียนการสอนในรายวิชาคอมพิวเตอร์ ใช้เวลาเพียงครั้งละ 1 คาบเรียน 1 ชั่วโมง
หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆในปัจจุบัน มุ่งเน้นผู้เรียนให้มีความรู้ในการใช้สื่อเทคโนโลยีและเข้าถึงบริการต่างๆ ที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย ตามแผนพัฒนาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 5 กล่าวว่า มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษามุ่งหวังให้คนไทยได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งตอบสนองการพัฒนาในด้านการเข้าถึงการให้บริการ ด้านความเท่าเทียมและด้านประสิทธิภาพ (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ,2560,หน้า.8) ที่ผ่านมาการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ของนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ผู้ศึกษามุ่งเน้นจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย และสามารถบูรณาการเพื่อนำไปเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพ ผู้ศึกษาจัดหาและจัดทำสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ เช่น แบบฝึกประกอบวีดีโอภาษามือ งานนำเสนอ PowerPoint และนำมาใช้จัดการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจ ง่ายต่อการเรียนรู้และทบทวนเนื้อหาได้ด้วยตนเอง โดยพบว่า สอดคล้องกับหลักการและทฤษฎีการใช้สื่อประสม โดยสื่อประสมช่วยสร้างความสนใจให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ดังเช่น สุลักขณา คุ้มทรัพย์ (2555,หน้า.1) กล่าวว่า สื่อประสมหมายถึง การนำเอาสื่อการสอนหลายๆ อย่างที่สัมพันธ์กัน มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบมีคุณค่าส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยสื่ออย่างหนึ่งอาจใช้เพื่อเร้าความสนใจ ในขณะที่อีกอย่างหนึ่งใช้อธิบายข้อเท็จจริงของเนื้อหา และใช้ป้องกันการเข้าใจความหมายผิด ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์จากประสาทสัมผัสที่ผสมผสานจนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพและในต่างประเทศได้มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้สื่อประสม หรือสื่อมัลติมีเดีย กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ดังเช่น งานวิจัยของ เกนทรี ชินน์ และมัลตัน (Gentry, Chinn, and Moulton, 2004/2005 อ้างถึงใน พรพรรณ์ สมบูรณ์และคณะ,2557,หน้า.118) ที่พบว่า การเลือกใช้สื่อที่มีทั้งตัวหนังสือ ภาพ และภาษามือ เป็นสื่อ multiple modes ที่มีความหลากหลากของรูปแบบการใช้งานทำให้นักเรียนที่มีความพิการทางการได้ยินรู้สึกสนุกและน่าสนใจต่อการกระตุ้นการอ่านของเด็ก และสอดคล้องกับเกนทรี (Gentry,1998) ที่พบว่า สื่อมัลติมีเดียที่มีตัวหนังสือ รูปภาพ และภาษามือ รวมกันทั้ง 3 อย่างมีส่วนช่วยให้เข้าใจเรื่องราวที่จะสอนได้ดีกว่าแบบตัวหนังสืออย่างเดียว หรือตัวหนังสือกับภาษามือ ส่วนการใช้สื่อที่มีการนำเสนอโดยมีตัวหนังสือกับรูปภาพ จะมีส่วนช่วยให้เข้าใจเรื่องที่สอนได้ดีกว่าแบบตัวหนังสืออย่างเดียว หรือตัวหนังสือกับภาษามือ
จากงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น ผู้รายงานพบว่า การเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนกับบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ควรเลือกใช้หรือจัดทำสื่อในรูปแบบมัลติมีเดียหรือสื่อประสม โดยมีสิ่งสำคัญคือ วิดีโอภาษามืออธิบายเนื้อหาการเรียน ซึ่งสื่อแบบประสมจะช่วยให้บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเข้าใจเนื้อหาหรือเรื่องราวต่างๆได้ดีขึ้นและมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนที่ดี ดังเช่น งานวิจัยของ มานะ ประทีปพรศักดิ์ (2549,หน้า.74) ได้ทำการศึกษาเพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดบทเรียนมัลติมีเดียเพื่อการสอนคนหูหนวก พบว่า คะแนนเฉลี่ยหลังการเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และเนื่องจากในปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แต่เพียงในห้องเรียน สื่อการสอน หนังสือ แบบฝึก ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในโรงเรียนหรือห้องเรียน เมื่อศึกษาค้นคว้าข้อมูลและพัฒนาการของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ผู้รายงาน พบว่า สื่อประสมหรือมัลติมีเดียต่างๆ สามารถนำไปไว้บนการสื่อสารออนไลน์ในรูปแบบของเว็บไซต์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าไปเรียนรู้ ทบทวนเนื้อหา ทำแบบทดสอบ ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ทำให้สามารถลดข้อจำกัดในการเรียนรู้ของนักเรียนในอดีต ที่ต้องเรียนรู้แต่ในห้องเรียน ดังคำกล่าวของ วิจิตร ศรีสะอ้าน (2529,หน้า.18) ที่กล่าวว่า ถ้าครูรู้จักเลือกสื่อมาใช้ให้ถูกต้องทางการศึกษาจะใช้ประโยชน์ได้มาก เพราะถ้าสื่อใดมีทั้งเสียงทั้งภาพและมีสีด้วย สื่อนั้นจะมีประสิทธิภาพในการใช้เพื่อการศึกษา ผู้รายงานจึงได้เล็งเห็นถึงความเหมาะสมในการที่จะนำเอาสื่อประสมที่มีทั้งภาพ วีดีโอภาษามือ และแบบฝึก แบบทดสอบ มารวบรวมและพัฒนาขึ้นในรูปแบบสื่อประสมเพื่อการเรียนการสอน
ดังนั้นจากการศึกษาทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผู้รายงานสนใจจะสร้างและพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางได้ยินชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ เพราะสื่อประสมจะช่วยให้นักเรียนสามารถ เรียนรู้ ทบทวนเนื้อหา ดูวิดีโอภาษามืออธิบายเนื้อหา ได้ด้วยตนเอง ตลอดเวลาที่ต้องการ นักเรียนจะมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนที่ดีขึ้น เป็นการสร้างพื้นฐานความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีแก่นักเรียนเพื่อใช้ในการศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพ ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองต่อไปในอนาคต รวมถึงใช้เป็นสื่อ นวัตกรรมทางการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินคนอื่นๆในโอกาสต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
2.1 เพื่อสร้างและพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2.2 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ ก่อนและหลังการเรียนโดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม
2.3 เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อ การเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์
ระเบียบวิธีวิจัย
1.ขอบเขตการวิจัย
ผู้รายงานได้กำหนดขอบเขตของการศึกษา ไว้ดังนี้
1.1 ประชากรที่ใช้ในการศึกษา
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2560 จำนวน 1 ห้องเรียน 11 คน
1.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2560 จำนวน 5 คน โดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) จากนักเรียนที่มีผลการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ในปีการศึกษา 2559 ทั้ง 2 ภาคเรียน ระหว่าง 2.00-2.50
1.3 ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา
ตัวแปรต้น ได้แก่ ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่องการสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ตัวแปรตาม ได้แก่
1.ประสิทธิภาพของชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
2.ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์
3.ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนรู้ ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์
1.4 เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษา
เนื้อหาที่นำมาสร้างชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เป็นเนื้อหาในหน่วยการเรียน เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ ด้วยโปรแกรม Adobe DreamWever Cs3 รายวิชา คอมพิวเตอร์ 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (รายวิชาเพิ่มเติม) ภาคเรียนที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีตามหลักสูตรสถานศึกษา
1.5 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มี 4 ชนิด ประกอบด้วย
1.5.1 แผนการสอนเฉพาะบุคคล เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ ด้วยโปรแกรม Adobe Dreamwever Cs3 สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 20 ชั่วโมง ซึ่งมีการวางแผนเฉพาะเจาะจงให้นักเรียนแต่ละคนได้บรรลุจุดประสงค์ตามเป้าหมายที่วางไว้
1.5.2 ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วยเนื้อหา 10 บทเรียน คู่มือการใช้งาน 1 เล่ม
1.5.3 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นแบบทดสอบ ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก ประกอบด้วย แบบทดสอบก่อนและหลังการเรียนรู้ จำนวน 30 ข้อ
1.5.4 แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เป็นการสัมภาษณ์แบบมีคำถามที่แน่นอน (Structured Interview) จำนวน 3 คำถาม
1.6 ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา
การทดลองใช้ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่องการสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในครั้งนี้ใช้เวลาทดลอง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 เป็นไปตามหลักสูตรและโครงสร้างรายวิชาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผลการวิจัย
การพัฒนาชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เมื่อสิ้นสุดการทดลอง พบว่า
1.ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 89.00/84.66 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑที่กำหนดไว้ คือ 80/80
2.คะแนนการทดสอบผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนโดยใช้ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม เรื่อง การสร้างและออกแบบเว็บไซต์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
3.ความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดการสอนแบบสื่อประสม อยู่ในระดับมาก และมีความคิดเห็นว่า ชุดการสอนแบบสื่อประสมช่วยให้นักเรียนดำเนินการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทบทวนเนื้อหา ทำแบบทดสอบ และสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาที่อยากเรียน เนื่องจากเป็นชุดการสอนที่อยู่ในระบบออนไลน์ ง่ายต่อการเข้าถึง ทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น
ข้อเสนอแนะ
1.ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปใช้
1.1 การใช้ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม จำเป็นต้องใช้ร่วมกับคู่มือและแผนการจัดการเรียนรู้ พร้อมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ต เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเนื้อหาบทเรียน หรือ เปิดแผ่นซีดี ในกรณีที่ใช้งานในพื้นที่ไม่มีสัญญานอินเตอร์เน็ต
1.2 ครูควรใช้ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสม ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผลเป็นรายบุคคลและควรเพิ่มเวลาการเรียนรู้และการทำแบบทดสอบให้กับนักเรียน
1.3 ครูสามารถใช้ชุดการเรียนรู้แบบสื่อประสมกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ทั้งชั้นเรียน ในการจัดการเรียนรู้ แต่ควรให้เวลากับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนต่ำ โดยครูคอยแนะนำช่วยเหลือเพิ่มเติมและสามารถให้นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนดีอยู่แล้ว นำไปใช้ทบทวนเนื้อหาการเรียนนอกเวลาได้เป็นอย่างดี
2.ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาการใช้สื่อมัลติมีเดียหรือสื่อประสมเพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้กับการเรียนเนื้อหาอื่นๆ ในรายวิชาคอมพิวเตอร์กับนักเรียน เช่น การใช้งานโปรแกรมออกแบบกราฟฟิก การสร้างภาพเคลื่อนไหว การนำเสนองานด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ยากสำหรับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนต่ำและมีทักษะพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ไม่ดี
2.2 สามารถนำเทคนิคการใช้สื่อประสมไปปรับใช้ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ในรายวิชาอื่นๆ ที่พบว่านักเรียนมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนสอนในชั้นเรียนปกติ เพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนเป็นรายบุคคล
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ.(2553). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไข เพิ่มเติม
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ครุสภา.
กระทรวงศึกษาธิการ.(2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
กิดานันท์ มะลิทอง. (2550). เทคโนโลยีการศึกษาร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.
เกยูร วงศ์ก้อม.(2548). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฎ
สวนดุสิต.
พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสาหรับคนพิการ พุทธศักราช 2551. (5 กุมภาพันธ์ 2551). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอน 28 ก หน้า 2.
โยธกา ศรีใสไพรและคณะ.(2558). การพัฒนาสื่อการเรียนรู้มัลติมีเดีย สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ สถาบันวิจัยและพัฒนา.
รักษ์สิริ แพงป้อง.(2554).การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนในการเรียนรู้ เรื่องสิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินระดับหูหนวก จากการสอนแบบ POOSE ร่วมกับสื่อวีดีทัศน์ ปริญญานิพนธ์. (การมัธยมศึกษา).กรุงเทพฯ:บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.