ชื่อเรื่อง การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน รายวิชา ประวัติวัดมหาธาตุ ร่องรอยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ สาระการพัฒนาสังคม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองเพชรบูรณ์
ผู้วิจัย อาลิตตา ทองศักดิ์
หน่วยงาน ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองเพชรบูรณ์
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนา และประเมินคุณภาพเอกสารประกอบการเรียน รายวิชา ประวัติวัดมหาธาตุ ร่องรอยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ สาระการพัฒนาสังคม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ 2) ศึกษาประสิทธิภาพเอกสารประกอบการเรียน รายวิชา ประวัติวัดมหาธาตุ ร่องรอยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังเรียน ของนักศึกษาที่เรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน รายวิชา ประวัติวัดมหาธาตุ ร่องรอยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ และ 4) ศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน รายวิชา ประวัติวัดมหาธาตุ ร่องรอยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนา โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระยะ มีขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่างตามระยะการวิจัย ดังนี้ ระยะที่ 1 พัฒนาเอกสารประกอบการเรียน ผู้ศึกษาได้เจาะจงเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญจากผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเรียนการสอน จำนวน 23 คน และในการประเมินคุณภาพของเอกสารประกอบการสอน เจาะจงเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอน จำนวน 5 คน ระยะที่ 2 ศึกษาประสิทธิภาพเอกสารประกอบการเรียน กลุ่มตัวอย่างสำหรับการหาประสิทธิภาพแบบรายบุคคล เจาะจงเลือกจากนักศึกษาที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ของกศน. ตำบลนางั่ว จำนวน 3 คน กลุ่มตัวอย่างสำหรับการหาประสิทธิภาพแบบกลุ่มย่อย เจาะจงเลือกจากนักศึกษาของ กศน. ตำบลท่าพล จำนวน 10 คน และ กลุ่มตัวอย่างสำหรับการหาประสิทธิภาพแบบภาคสนาม เจาะจงเลือกจากนักศึกษาของ กศน. ตำบลนายม จำนวน 30 คน ระยะที่ 3 ศึกษาผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน ประชากรเป็นนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ที่ลงทะเบียนเรียนในสาระการพัฒนาสังคมของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จำนวน 451 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างจากข้อกำหนดของการวิจัยเชิงทดลอง ได้จำนวน 30 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีเจาะจงเลือก จากนักศึกษา กศน.ตำบลดงมูลเหล็ก เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างสำหรับการพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน 2) แบบประเมินคุณภาพเอกสารประกอบการเรียน 3) เอกสารประกอบการเรียน 4) แบบทดสอบความรู้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 5) แบบสอบถามความ พึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที (t-test Dependent)
ผลการศึกษา พบว่า
1. เอกสารประกอบการเรียน รายวิชา ประวัติวัดมหาธาตุ ร่องรอยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยเนื้อหาสาระของเอกสารประกอบการสอน จำนวน 5 บท ได้แก่ บทที่ 1 ประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ บทที่ 2 ประวัติวัดมหาธาตุเพชรบูรณ์ บทที่ 3 ตำนาน ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ และศาสนบุคคลสำคัญ เป็นสาระความรู้เกี่ยวกับความเชื่อเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ พระเกจิอาจารย์ และศาลหลักเมือง บทที่ 4 ยุคการเปลี่ยนแปลงของวัดมหาธาตุเพชรบูรณ์ บทที่ 5 ราชานุสรณ์ศูนย์รวมจิตใจพสกนิกรเพชรบูรณ์ เป็นสาระความรู้เกี่ยวกับราชานุสรณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตที่มีอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีคุณภาพระดับ ดี ที่ค่าเฉลี่ย 4.42 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 0.53
2. เอกสารประกอบการเรียน รายวิชา ประวัติวัดมหาธาตุ ร่องรอยประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 82.20/81.17
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่เรียนด้วยเอกสารประกอบการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักศึกษามีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน อยู่ในระดับ มาก ที่ค่าเฉลี่ย 4.46 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 0.70