ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านควนมุด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราชเขต 3
ชื่อผู้ประเมิน : นางสาวสุภัตร พุทธานุกูล
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2560
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านควนมุด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของการดำเนินโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ของโครงการ ความเหมาะสมของกิจกรรมในการดำเนินโครงการ และความสอดคล้องของนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับบุคลากรของสถานศึกษา งบประมาณ สถานที่ สื่อและแหล่งเรียนรู้ 3) เพื่อประเมินกระบวนการ เกี่ยวกับ การวางแผน การดำเนินงาน การนิเทศ ติดตาม การประเมินผล และการปรับปรุงแก้ไข 4) เพื่อประเมินผลผลิต เกี่ยวกับประสิทธิผลการดำเนินโครงการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน และความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านควนมุด ในปีการศึกษา 2560 รวมทั้งสิ้น จำนวน 224 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 156 คน ประกอบด้วย 1) ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน 2) ครู จำนวน 7 คน 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 6 จำนวน73 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 68 คน 5) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ แบบสอบถามแบบ มาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 9 ฉบับ
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นทุกตัวชี้วัดและภาพรวมของโครงการดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้แก่ ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด รองลงมาคือด้านความเหมาะสมของกิจกรรม ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ และความต้องการจำเป็นของโครงการ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 4 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ สถานที่ รองลงมา คือ งบประมาณ บุคลากรของสถานศึกษา สื่อและแหล่งเรียนรู้ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านประเมินผล ด้านการวางแผน ด้านการปรับปรุงแก้ไข ด้านการดำเนินงาน และ ด้านนิเทศติดตาม ตามลำดับ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน รองลงมาคือ ด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง และด้านประสิทธิผลการดำเนินโครงการ ตามลำดับ
ผลการประเมินโครงการในภาพรวมพบว่า โครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านควนมุด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 อยู่ในระดับมากที่สุด
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากผู้ที่ให้ข้อมูล คือ นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษาขั้นฐาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการจัดการศึกษาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากส่งเสริมให้บุคคลมีความรู้ความคิด มีปัญญา มีวิธีคิด รู้จริง รู้แจ้ง รู้ตลอด รู้เท่าทันตามเหตุผลความเป็นจริง รู้จักคิดวิเคราะห์ บูรณาการองค์ความรู้ ค้นพบทางเลือกเพื่อประยุกต์สู่การปฏิบัติ เกิดทักษะนำไปสู่การดำรงชีวิตที่เหมาะสมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้บุคคลมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ ความเข้าใจในคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม มีเจตคติที่ดี มีทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลเชิงคุณธรรม จริยธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ มีวินัย มีความอดทน อดกลั้น อดออม มีความขยันหมั่นเพียร เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมและส่งเสริมให้บุคคลมีความรู้ ความเข้าใจทักษะในการแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบ พึ่งตนเองได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพของสังคม ยุคสมัยและศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งวิธีการที่จะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน วางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยจัดการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพผู้เรียนตามลำดับ ความสามารถจากง่ายไปหายากตามระดับช่วงชั้น เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมและสมบูรณ์ทุกด้านตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผล การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ