การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของ นักเรียนโรงเรียนบ้านต้นส้าน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. ประเมินความเหมาะสมของโครงการ โดยการประยุกต์ใช้วิธีการประเมินตามรูปแบบ CIPP Model ของ Daniel L. Stufflebeam ในด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต
2. ประเมินผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านต้นส้าน จากวัตถุประสงค์ของโครงการ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1) ความมีวินัยความรับผิดชอบ และปฏิบัติตามหลักธรรมเบื้องต้นของศาสนาที่ตนเองนับถือ 2) ความซื่อสัตย์สุจริต 3) ความกตัญญูกตเวที 4) ความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม 5) ความประหยัด รู้จักใช้ทรัพย์สินของส่วนตนและส่วนรวมอย่างคุ้มค่า 6) มีความภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทย นิยมไทยและดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย
ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะครูจำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 50 คน และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 25 คน โดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากนักเรียนทั้งหมด รวมจำนวนประชากรทั้งหมด 92 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการประเมินโครงการ มี 3 ฉบับ คือ
ฉบับที่ 1 แบบบันทึกการประชุมเกี่ยวกับข้อมูล ด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อมของโครงการ สำหรับคณะครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ฉบับที่ 2 แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการ ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ สำหรับคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน ลักษณะเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และความคิดเห็นเพิ่มเติม หรือข้อเสนอแนะอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการ
ฉบับที่ 3 แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการประเมินผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน สำหรับนักเรียนที่ร่วมโครงการ ลักษณะเป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) 3 ระดับ และความคิดเห็นเพิ่มเติมหรือข้อเสนอแนะอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการ
จากการประเมินการโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านต้นส้าน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 4 ด้าน คือด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และการประเมินผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ สรุปผลการประเมินโดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 สรุปผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านต้นส้าน ตามกรอบการประเมินทั้ง 4 ด้าน
ด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม ชุมชนต้องการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการส่งเสริม และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียน เพราะในปัจจุบันนี้ ปัญหาการขาดคุณธรรม จริยธรรมนับว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกในการเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักเรียนและเยาวชน ส่วนปัญหาและความต้องการของโรงเรียนคือ ต้องการให้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่พึงปราถนา มีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการ โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งด้านการระดมความคิด และระดมทรัพยากร มีการประชุมชี้แจง สำรวจข้อมูลความต้องการ กำหนดผู้รับผิดชอบ และกำหนดบทบาทหน้าที่ไว้พร้อมสำหรับการดำเนินงาน
ด้านปัจจัยเบื้องต้น ประกอบด้วยความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสม ความพร้อมความเพียงพอในด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ ด้านการจัดการ ด้านวัสดุอุปกรณ์ และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ตามทัศนะของคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน ในภาพรวมมีความเหมาะสม ความพร้อมและความเพียงพออยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายข้อ ทั้ง 15 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ผู้รับผิดชอบโครงการมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการดำเนินงานตามโครงการ รองลงมาคือ ผู้รับผิดชอบโครงการมีความเหมาะสมในการดำเนินงานตามโครงการ โรงเรียนมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามโครงการ และกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนเหมาะสมและเป็นลายลักษณ์อักษรตามลำดับ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คืองบประมาณที่ได้รับจัดสรรสำหรับโครงการเพียงพอต่อการดำเนินงาน
ด้านกระบวนการ ประกอบด้วย ความเหมาะสมของกระบวนการในการดำเนินโครงการ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติในการวางแผนดำเนินงาน การประสานงานโครงการและกิจกรรม การประชาสัมพันธ์ การติดตามประเมินผลและการปรับปรงการดำเนินงาน ตามทัศนะของคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน ในภาพรวมมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก และเพื่อพิจารณารายข้อ ทั้ง 15 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานตามโครงการ รองลงมาคือ มีการประชุมชี้แจงและปรึกษาหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการวางแผนในการดำเนินงานตามโครงการ มีการกำหนดกิจกรรมของโครงการไว้อย่างชัดเจน มีการดำเนินโครงการอย่างจริงจังตามลำดับ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความสำคัญของโครงการอย่างมีระบบ
ด้านผลผลิต ประกอบด้วย ความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะและพฤติกรรมในการปฏิบัติตนของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ตามทัศนของคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนในภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายข้อทั้ง 15 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือนักเรียนมีกิริยามารยาทและมีสัมมาคารวะต่อผู้อื่นมากขึ้น รองลงมาคือ นักเรียนเป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามความต้องการของโรงเรียน การดำเนินโครงการทำให้นักเรียนรู้จักความละอายในการกระทำผิดและเกรงกลัวต่อบาปที่ประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมตามลำดับ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การดำเนินโครงการมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงและปฏิบัติได้
ตอนที่ 2 สรุปผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านต้นส้าน
การประเมินผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เป็นผลที่เกิดจากการดำเนินงาน ตามโครงการ ตามทัศนะของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับที่ได้ปฏิบัติเป็นประจำ และเมื่อพิจารณารายวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ด้าน จำนวน 31 รายการ รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือความกตัญญูกตเวที มีผลความคิดเห็นในระดับได้ปฏิบัติเป็นประจำ รองลงมาคือความซื่อสัตย์ และความมีวินัย ตามลำดับ สำหรับรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำคือ ด้านความใฝ่รู้ใฝ่เรียน