ชื่องานวิจัย รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม
ชื่อผู้วิจัย นายบุญจันทร์ มูลกัน
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาองค์ประกอบของคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม 2. สร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม 3. ทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคมและ 4. ประเมินรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม ซึ่งมีขั้นตอนการวิจัย 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาองค์ประกอบของคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม โดยศึกษาวิเคราะห์สังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม โดยกำหนดร่างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม และการตรวจสอบความตรงของร่างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม ด้วยการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และจากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้น 39 คน ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม เพื่อนำรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน ไปทดลองใช้ในโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม ตำบลบ้านโนน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูล รวมทั้งสิ้น 21 คน และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม เพื่อประเมินเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูล รวมทั้งสิ้น จำนวน 71 คน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาองค์ประกอบของคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม ผู้วิจัยได้ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ พบว่า องค์ประกอบของคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน มี 7 องค์ประกอบ คือ 1) การพัฒนาคุณภาพครู 2) การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ 3) การพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ 4) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ 5) การนิเทศการศึกษา 6) การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษา และ 7) การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา
2. ผลการสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม โดยการประชาพิจารณ์ ได้ 7 กลยุทธ์ซึ่งแต่ละกลยุทธ์มีโครงการ ดังนี้ กลยุทธ์ 1 การพัฒนาคุณภาพครู ประกอบด้วย 1.1) โครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่ความเป็นมืออาชีพ และ 1.2) โครงการพัฒนาการสอนด้วยเทคนิควิจัยในชั้นเรียน กลยุทธ์ 2 การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ประกอบด้วย 2.1) โครงการส่งเสริมศักยภาพความเป็นเลิศนักเรียนด้านศิลปะดนตรี กีฬา 2.2) โครงการอ่านออกเขียนได้ 2.3) โครงการเข้าค่ายวิชาการ 2.4) โครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและ 2.5) โครงการส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กลยุทธ์ 3 การพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย 3.1) โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม 3.2) โครงการจัดหาทรัพยากรทางการศึกษา และ 3.3) โครงการส่งเสริมเทคโนโลยี กลยุทธ์ 4 การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ประกอบด้วย 4.1) โครงการพัฒนาห้องสมุด 4.2) โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนอาเซียนศึกษา 4.3) โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนและ 4.4) โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ กลยุทธ์ 5 การนิ เทศการศึกษา ประกอบด้วย 5.1) โครงการนิเทศการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและ 5.2) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูผู้นิเทศและครูผู้รับการนิเทศ กลยุทธ์ 6 การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการ ศึกษา ประกอบด้วย 6.1) โครงการพัฒนาระบบงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและ 6.2) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ประเมินภายในสถานศึกษาและกลยุทธ์ 7 การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย 7.1) โครงการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการสถานศึกษาและภาคีเครือข่าย 7.2) โครงการชุมชนสัมพันธ์ 7.3) โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และ 7.4) โครงการประชุมผู้ปกครอง
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม ดังนี้
3.1 ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม โดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด
3.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ พบว่า ค่าเฉลี่ย โดยรวม ปีการศึกษา 2559 สูงกว่าปีการศึกษา 2558 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด
เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน (O-NET) พบว่า ปีการศึกษา 2559 คะแนนเฉลี่ยสูงกว่า ปีการศึกษา 2558 รวมทั้งสิ้น 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้
เปรียบเทียบคะแนนผลการประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐาน (LAS) พบว่า คะแนนเฉลี่ยผลการประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้เรียน สมรรถนะสำคัญทั้ง 5 ด้าน ของปีการศึกษา 2559 สูงกว่า ปีการศึกษา 2558 ทุกด้าน
4. ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม โดยการประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนโรงเรียนโนนโพธิ์ศรีวิทยาคม พบว่า โดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด