วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านท่าโรง
ความเป็นมา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้กำหนดความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยยึดหลักการว่าทุกคนมีความสามารถ เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นกระบวนการดำเนินงานที่มีแบบแผนขั้นตอนชัดเจนในการส่งเสริม พัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคล โรงเรียนบ้านท่าโรง ตระหนักและเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้สมบูรณ์และเกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาระบบคุณภาพของสถานศึกษา ในการดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพของโรงเรียนบ้านท่าโรงได้ใช้วงจรคุณภาพ PDCA มาใช้ในการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยมีการวางแผนการดำเนินงานตั้งแต่ศึกษานโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด จัดทำโครงการ ประชุมชี้แจงการดำเนินงาน ดำเนินโครงการตามกรอบการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตั้งแต่การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การพัฒนาและการส่งเสริม การป้องกันและแก้ไขปัญหา จนกระทั่งการส่งต่อ จากการดำเนินงานตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน กล่าวคือ ผู้เรียนได้ดำเนินการประเมินตนเอง เมื่อครูแปลผลการประเมินตนเองของผู้เรียนจะทำให้ทราบพฤติกรรมของผู้เรียนและหากมีพฤติกรรมที่เสี่ยงเกินการแก้ไขในโรงเรียน โรงเรียนก็จะดำเนินการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญภายในเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา จากการดำเนินงานส่งผลให้โรงเรียนได้พัฒนาระบบการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้มแข็งและนักเรียนจะได้รับการดูแล ช่วยเหลือ พัฒนา ส่งเสริม ป้องกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพตามความต้องการของสังคม
วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านท่าโรง มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
๑. ขั้นเตรียมการ (P)
๑.๑ ศึกษานโยบายของโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษาและสพฐ.ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
กับโครงการฯ
๑.๒ ศึกษาผลการดำเนินโครงการฯ ในปีที่ผ่านมา
๑.๓ ศึกษาบริบทและสภาพความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการฯ
๑.๔ จัดทำโครงการฯ นำเสนอต่อฝ่ายบริหาร
๒. ขั้นดำเนินการ (D)
๒.๑ ประชุมคณะทำงานเพื่อชี้แจงโครงการฯ และมอบหมายภาระงาน
๒.๒ ดำเนินงานตามโครงการฯ
กิจกรรมระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
กิจกรรมรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล
กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน
กิจกรรมจัดเก็บข้อมูล
กิจกรรมคัดกรองข้อมูลนักเรียน
- กลุ่มปกติ
- กลุ่มเสี่ยง
- กลุ่มที่มีปัญหา
จัดทำระบบสารสนเทศระดับห้องเรียน ระดับชั้นเรียนและระดับโรงเรียน
จัดระบบช่วยเหลือตามภาวะเสี่ยงของนักเรียน (ดูแลช่วยเหลือตามสภาพปัญหาที่แท้จริง)
กิจกรรมส่งเสริม/พัฒนา/ป้องกัน/แก้ไข
กิจกรรมการส่งต่อ
๓. ขั้นนิเทศติดตามผล (C)
ผู้รับผิดชอบโครงการฯ นิเทศติดตามการดำเนินงาน และคอยอำนวยความสะดวก
ในการดำเนินกิจกรรมของผู้เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามภาระงานที่โครงการฯ กำหนด
๔. ขั้นประเมินและรายงานผล (A)
๔.๑ สรุปประเมินโครงการฯ
๔.๒ จัดทำรายงานโครงการฯ
ผลการดำเนินการ จากการดำเนินการที่ผ่านมา นักเรียนโรงเรียนบ้านท่าโรงได้รับการดูแลช่วยเหลือตามขั้นตอนการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ร้อยละ ๑๐๐ และเป็นนักเรียนกลุ่มปกติทั้งโรงเรียน ครูได้รับการพัฒนา สร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
ปัจจัยความสำเร็จ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านท่าโรง เกิดขึ้นได้เพราะผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และนักเรียน มีการร่วมมือกัน ประสานการดำเนินงานร่วมกันจึงทำให้การดำเนินงานสำเร็จได้และต่อเนื่องในการดำเนินงาน
บทเรียนที่ได้รับ ในการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านท่าโรงที่ผ่านมาส่งผลให้นักเรียนเป็นกลุ่มปกติทั้งโรงเรียน และได้รับการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นอย่างดีจากครูประจำชั้น ตั้งแต่การทำความรู้จักนักเรียนจากการสอบถาม สัมภาษณ์ การคัดกรองเพื่อจำแนกนักเรียน การส่งเสริมพัฒนา การป้องกันและแก้ไข รวมไปถึงการส่งต่อ จึงทำให้ผลการดำเนินงานของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนประสบผลสำเร็จ