ผู้วิจัย นางมลฤดี ก้านแก้ว
สถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองสตูล
ปีการศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของกิจกรรมการปั้นแป้งจาก กล้วยน้ำว้า ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยกิจกรรมการปั้นแป้งจากกล้วยน้ำว้า
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/8 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองสตูล จำนวน 31 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) แผนการจัดกิจกรรมการปั้นแป้งจากกล้วยน้ำว้า ชั้นอนุบาลปีที่ 2 และ 2) แบบประเมินความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การหาประสิทธิภาพของกิจกรรมการปั้นแป้งจากกล้วยน้ำว้า ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ตามเกณฑ์ 80/80 ด้วยวิธี E1/E2 การเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยกิจกรรมการปั้นแป้งจากกล้วยน้ำว้าโดยการทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent Samples Test ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของกิจกรรมการปั้นแป้งจากกล้วยน้ำว้า ชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีประสิทธิภาพ 82.49/82.83 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีความคิดสร้างสรรค์ หลังการจัดกิจกรรมการปั้นแป้งจาก กล้วยน้ำว้า สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01