ความเป็นมา/แนวคิด
กระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากรซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการพัฒนาประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหา อุปสรรคในการจัดการศึกษาที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่อนาคต ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เข้าสู่ระดับสากล การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงและบริบทของสังคมไทย โดยเน้นการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และระบบบริหารและการจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการศึกษาไทยเพื่อการพัฒนาคุณภาพ และยกระดับการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น ต้องการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการศึกษาไทยทั้งในด้านคุณภาพ และประสิทธิภาพให้ทัดเทียมกับนานาอายประเทศซึ่งการปฏิรูปการศึกษานี้เป็นภารกิจที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่ทุกคน ทุกหน่วยงานองค์กรจะต้องร่วมคิด ร่วมทำ และช่วยตัดสินใจ การปฏิรูปการศึกษาเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทั้งในเชิงความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ความร่วมมือใน การดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างแนวคิดร่วม สร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติให้กับบุคลากรทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะของผู้เรียนที่ได้มาตรฐานสูงในระดับสากลให้สามารถเผชิญปัญหา การเปลี่ยนแปลง และดำรงตนในสังคมได้อย่างมีความสุขและร่วมรับผิดชอบพัฒนาชุมชนในประเทศชาติและสังคมโลกต่อไป
การวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การปฏิรูปการเรียนรู้ประสบความสำเร็จ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 24(5) ระบุให้ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ผู้สอนสามารถใช้การวิจัยเพื่อศึกษาค้นคว้าหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การวิจัยจึงสัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยฝึก กระบวนการคิด วิเคราะห์ หาเหตุผลในการตอบปัญหา และแก้ไขปัญหา มาตรา 30 ระบุให้ครูผู้สอนทำการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียน นอกจากจัดกระบวนการเรียนการสอนแล้ว ยังใช้การวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการรู้คำตอบเพื่อพัฒนาควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนการสอนและทำการวิจัยให้เป็นกระบวนการเดียวกัน (กระทรวงศึกษาธิการ. 2542: 23)
การเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในโรงเรียนเป็น การปลูกฝังความมีระเบียบวินัย คุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความเป็นมนุษย์ ความกตัญญู รักเกียรติภูมิแห่งตน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม รู้จักคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นกลุ่ม เคารพสิทธิของผู้อื่น เสียสละ รักประเทศชาติ เห็นคุณค่าการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ศรัทธาในศาสนาจึงทำให้การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นไปได้ยาก เพราะขัดกับหลักจิตวิทยาและธรรมชาติการเรียนรู้ ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านสติปัญญา ความถนัดคุณธรรมจริยธรรม ความสามารถและประสบการณ์ เป็นผลทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องที่เรียนแตกต่าง ๆ กัน ถ้าครูสอนเร็วผู้เรียนที่เรียนอ่อนจะตามไม่ทัน ครูสอนซ้ำอธิบายมาก ๆ ผู้เรียนจะเกิดความเบื่อหน่ายและถ้าผู้เรียนเป็นเด็กเล็ก ๆ การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมจึงเป็นไปได้ยาก ครูผู้สอนต้องออกแบบวิธีสอนหลาย ๆ อย่าง สื่อประกอบการเรียนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญที่ช่วยให้ครูผู้สอน และผู้เรียนได้สามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง การแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องทำการวิจัยและศึกษาค้นคว้าเพื่อคิดและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ตรงบริบทของผู้เรียน สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังปลูกฝังระเบียบวินัยคุณธรรมจริยธรรมให้ดีขึ้น มาบูรณาการกับวิธีการสอนของครู เพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เอกสารประกอบการเรียนถือเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจถึงเนื้อหาที่เรียน ตลอดจนสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเพื่อเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง กิดานันท์ มลิทอง (2543 : 112) ได้กล่าวถึงข้อดีที่จะเป็นประโยชน์ของเอกสารประกอบการเรียนไว้ว่า ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามอัตราความสามารถของแต่ละบุคคล เหมาะสำหรับการอ้างอิงหรือทบทวน สะดวกในการแก้ไขและปรับปรุงเนื้อหาใหม่ เหมาะสำหรับการเรียนรู้ที่ดีวิธีหนึ่ง ช่วยลดบทบาทของครูในการสอน มุ่งการสอนโดยยึดนักเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งหมายของหลักสูตรในปัจจุบัน ช่วยพัฒนาความคงที่ของเนื้อหา เพื่อเป็นแหล่งความรู้ เป็นเครื่องกำหนดบทบาท เป็นสื่อการเรียนการสอน เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน เป็นตัวเชื่อมระหว่างครูกับนักเรียนที่จะทำให้ความเข้าใจในเนื้อหาตรงกัน และถ่ายทอดเข้าสู่ตัวนักเรียน
ผู้รายงานซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมและปลูกฝังให้ผู้เรียนได้เข้าใจและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุขและสร้างคุณประโยชน์ที่ดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมได้ แต่สภาพการจัดการเรียนการสอนในปี พุทธศักราช 2558 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ซึ่งได้รับผลสัมฤทธิ์ระดับ 62.45 ต่ำกว่าเป้าหมายของสถานศึกษา จากการสรุปผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนบ้านตันหยง ปีพุทธศักราช 2558 (โรงเรียนบ้านตันหยง, 2558 : 28)
ด้วยสภาพการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว ผู้รายงานสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าจากแนวคิดเอกสารทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จนพบว่าการใช้เอกสารประกอบการเรียนสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของนักเรียนได้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ พิมพา พันธุ์ลำยอง (2557 : 86); ดวงพร แซ่แต้ (2556: 69) และ ฐิตานันท์ ทองอุ่น (2555 : บทคัดย่อ) ที่ได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การใช้เอกสารประกอบการเรียน เพื่อเป็นสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ของครูให้แก่นักเรียนย่อมสามารถสร้างแรงจูงใจ สร้างความสนใจใคร่รู้ และสร้างความอยากเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ นายสมศักดิ์ สมตน (2557 : บทคัดย่อ) และ อภิรัฐ แซะอามา (2558 : 73) ที่ต่างศึกษาเกี่ยวกับการใช้เอกสารประกอบการเรียนเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ผลการศึกษาพอสรุปให้เห็นว่าการใช้เอกสารประกอบการเรียนส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและนักเรียนยังมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการใช้วิธีการดังกล่าวส่งผลถึงนักเรียนอย่างแท้จริง
ดังนั้นด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ผู้รายงานดำเนินการศึกษา เรื่อง การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านตันหยง เพื่อประโยชน์ทางการเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และยังเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอน สถานศึกษา และหน่วยงานอื่นทางการศึกษาที่มีความสนใจในวิธีการดังกล่าวได้นำไปใช้เพื่อการพัฒนานักเรียนในความรับผิดชอบ ให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นตลอดไป