การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ (1) สร้างและหาประสิทธิภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด
ผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน (3) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน (4) ศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ (5) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัด
กาฬสินธุ์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 12 ห้องเรียน จำนวน 506 คน จัดชั้นเรียนแบบคละความสามารถของผู้เรียน ระหว่างเด็กเก่ง เด็กปานกลาง และเด็กอ่อน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/4 โรงเรียนบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 42 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้หน่วยสุ่มเป็นห้องเรียน ใช้เวลาในการทดลอง 20 ชั่วโมง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 10 ชุด แบบประเมินคุณภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ หน่วยการเรียนรู้ The World Around Us เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด
ผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้ศึกษาวิจัยสร้างขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t test (Dependent samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 5 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.07/81.48 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
2. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีคะแนนความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ค่าดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีค่าเท่ากับ 0.6336 แสดงว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นหลังจากการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร้อยละ 63.36
5. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดผังมโนทัศน์และการร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในระดับมากที่สุดโดยมีคะแนนเฉลี่ยระดับความพึงพอใจ เท่ากับ 4.62 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.48 (x̄ = 4.62 S.D = 0.48)