ชื่อผลงาน : การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต
ปีการศึกษา 2560
ผู้ประเมิน : นางภัทรนิษฐ์ วิเชียรบรรณ
รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต
ปีที่รายงาน : 2561
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต ปีการศึกษา 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ประเมินด้านกระบวนการ และประเมินด้านผลผลิตของโครงการประกอบด้วย 1) การดำเนินงานตามองค์ประกอบของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ 10 องค์ประกอบ 2) ภาวะสุขภาพของนักเรียน ได้แก่ น้ำหนัก/ส่วนสูง สภาวะช่องปากและพฤติกรรมทันตสุขภาพ การเจ็บป่วยและอุบัติเหตุในโรงเรียนในโรงเรียน และสมรรถภาพทางกายของนักเรียน 3) พฤติกรรมสุขภาพของครูและบุคลากร 4) พฤติกรรมสุขภาพของนักเรียน 5) ความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ต่อการดำเนินงานโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตปีการศึกษา 2560 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3, 4, 5 โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต ปีการศึกษา 2560 จำนวน 342 คน ครูและบุคลากร ปีการศึกษา 2560 จำนวน 80 คน ผู้ปกครองนักเรียน ปีการศึกษา 2560 จำนวน 342 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2560 จำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินมี 2 ลักษณะ ได้แก่ แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 7 ฉบับ และแบบบันทึกข้อมูลตามสภาพจริงเกี่ยวกับภาวะสุขภาพของนักเรียน ได้แก่ น้ำหนัก/ส่วนสูง สภาวะช่องปากและพฤติกรรมทันตสุขภาพ การเจ็บป่วยและอุบัติเหตุในโรงเรียนในโรงเรียน และสมรรถภาพทางกายของนักเรียน จำนวน 1 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือทุกฉบับ ได้ค่าความเชื่อมั่นแต่ละฉบับระหว่าง 0.8 ถึง 1.00 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอ้างอิงใช้ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way Analysis of Variance : ANOVA) ซึ่งผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินโดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น พบว่า ตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็น เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านบริบท ด้านกระบวนการ ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านผลผลิต ผลการประเมินรายประเด็นและตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ปีการศึกษา 2560 ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นในการดำเนินโครงการ ความสอดคล้องกับนโยบายต้นสังกัด ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการ ด้านสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกโรงเรียน และความเป็นไปได้ของโครงการ ผ่านเกณฑ์ภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดโดยในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าตามความคิดเห็นของครูและบุคลากรปีการศึกษา 2560 เกี่ยวกับ ความต้องการจำเป็นในการดำเนินโครงการ ความสอดคล้องกับนโยบายต้นสังกัด ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์โครงการ ด้านสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกโรงเรียน และความเป็นไปได้ของโครงการ โดยรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของครู ปีการศึกษา 2560 เกี่ยวกับการวางแผน (P) การดำเนินงาน (D) การติดตามประเมินผล (C) และการนำผลการประเมินไปปรับปรุง (A) โดยรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ จำแนกเป็น
4.1 การดำเนินงานตามองค์ประกอบของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ 10 องค์ประกอบตามความคิดเห็นของครูและบุคลากร ปีการศึกษา 2560 โดยรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
4.2 ภาวะสุขภาพของนักเรียน ได้แก่ น้ำหนัก/ส่วนสูง สภาวะช่องปากและพฤติกรรมทันตสุขภาพ การเจ็บป่วยและอุบัติเหตุในโรงเรียน และสมรรถภาพทางกายของนักเรียน พบว่า โดยภาพรวม ภาวะสุขภาพนักเรียนอยู่ในระดับดี เฉลี่ยร้อยละ 91.64 ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า รายการสถิตินักเรียนไม่มีการเจ็บป่วยและไม่เกิดอุบัติเหตุในโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยร้อยละสูงสุดอยู่ในระดับดีมาก เฉลี่ยร้อยละ 95.76 รองลงมา ได้แก่ นักเรียนที่ผ่านการทดสอบสมรรถภาพทางกายทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับดีมาก เฉลี่ยร้อยละ 91.36 และรายการที่มีค่าร้อยละต่ำสุด ได้แก่ นักเรียนมีน้ำหนัก/ส่วนสูงตามเกณฑ์ อยู่ในระดับดีมาก เฉลี่ยร้อยละ 88.76 ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
4.3 พฤติกรรมสุขภาพของครูและบุคลากร โดยการประเมินตนเองของครู และบุคลากรปีการศึกษา 2560 โดยรวม ครูและบุคลากรมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
4.4 พฤติกรรมสุขภาพของนักเรียน โดยการประเมินตนเองของนักเรียน ปีการศึกษา 2560 โดยรวม นักเรียนมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน
4.5 ความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2560 โดยรวม อยู่ในระดับมาก โดยนักเรียน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ครู และผู้ปกครองมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ โดยทุกกลุ่มที่ประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์การประเมิน ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งภาพรวมและทุกประเด็นตัวชี้วัดที่ประเมิน ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. ด้านบริบทของโครงการ
1.1 โรงเรียนควรดำเนินการผลักดันนโยบายโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ และถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบโดยทั่วกัน
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ
2.1 การดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข จึงควรบูรณาการความร่วมมือการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นคู่ขนาน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน สนับสนุนส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกันเพื่อตอบสนองต่อการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของเด็กควบคู่กันไปกับการจัดการศึกษา
2.2 ควรพัฒนาให้เป็นเครือข่ายสุขภาพกับโรงเรียนในเขตพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวมของเขตพื้นที่ และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแนวทางประชารัฐ รวมทั้งพัฒนาไปสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
3. ด้านกระบวนการของโครงการ
3.1 ผู้บริหารโรงเรียนและผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ต้องสร้างความตระหนักให้ครู และบุคลากร ทุกคนเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้เรียน ว่าไม่ใช่เป็นหน้าที่ของครูอนามัยแต่เป็นผู้เดียว และความจำเป็นในการร่วมมือกันสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เหมาะสมตั้งแต่เด็กจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
4. ด้านผลผลิต
4.1 ควรถอดบทเรียนแนวปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาส่งเสริมสุขภาพผู้เรียนร่วมกัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
4.2 ควรมีการสร้างขวัญกำลังแก่ครู บุคลากร และนักเรียนที่สุขภาพแข็งแรง ไม่ลาป่วยในแต่ละปีการศึกษา เช่น การมอบเกียรติบัตร
ข้อเสนอแนะในการประเมิน/วิจัยครั้งต่อไป
1. ควรศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาภาวะสุขภาพของนักเรียน และศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของนักเรียน ครู บุคลากร เพื่อนำผลการศึกษามาใช้ในการวางแผน ส่งเสริมให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม
2. ควรศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสุขภาพของนักเรียนกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
3. ควรมีการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เพื่อการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพนักเรียนโดยใช้กลยุทธ์เครือข่ายการมีส่วนร่วม