ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ
โรงเรียนบ้านโค้งประดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต ๒
ผู้รายงาน นางชลธิชา อนันต์นาวี
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบโรงเรียนบ้านโค้งประดู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต ๒มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบโรงเรียนบ้านโค้งประดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือด้านบริบทของโครงการ (Context)ด้านปัจจัยนำเข้าที่ใช้ในกิจกรรมตามโครงการ (Input)ด้านกระบวนการดำเนินงานของกิจกรรมตามโครงการ (Process) และด้านผลผลิตตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมตามโครงการ (Product)กลุ่มตัวอย่างคือ ครูผู้สอนจำนวน 4 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 9 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 37 คน และผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 37 คน ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sample)เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ แบบสอบถามประเมินโครงการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบโรงเรียนบ้านโค้งประดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 เป็นแบบสอบถามที่มีจํานวน 3 ฉบับ มีดังนี้ฉบับนักเรียนฉบับผู้ปกครองนักเรียน และฉบับครูมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.25-0.69 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84, 0.87 และ 0.98 ตามลำดับ และแบบสัมภาษณ์กรรมการสถานศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมินพบว่าผลการประเมินโครงการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ
โรงเรียนบ้านโค้งประดู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.56 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.57 เมื่อวิเคราะห์รายด้านพบว่า ด้านที่มีผลการประเมินมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ ด้านผลผลิต มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.69 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.47 รองลงมา คือ ด้านกระบวนการ ด้านบริบท และด้านปัจจัยนำเข้า ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์เป็นรายด้านสรุปได้ ดังนี้
1.ผลการประเมินด้านบริบท (Context) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.51 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.57 และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อในความคิดเห็นของนักเรียนพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ บรรยากาศของสถานที่เรียนรู้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียน ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเป็นระเบียบสวยงามร่มรื่น ในความคิดเห็นของผู้ปกครองพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ โรงเรียนมีอุปกรณ์และสื่อเพียงพอ
ต่อการเรียนการสอน ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนมีเพียงพอต่อความต้องการ และในความคิดเห็นของครูพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ โรงเรียนดำเนินนโยบายตามแผนงานโครงการสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.46 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.66 และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อในความคิดเห็นของนักเรียนพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือสื่อวัสดุอุปกรณ์และเอกสารมีความสอดคล้องกับเนื้อหาในโครงการ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ จำนวนชั่วโมงในการจัดกิจกรรมมีความเหมาะสม ในความคิดเห็นของผู้ปกครองพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ สถานที่ในการจัดกิจกรรมในโครงการเหมาะสมข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ และเอกสารมีความสอดคล้องกับเนื้อหาโครงการ และในความคิดเห็นของครูพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ จำนวนชั่วโมงในการจัดกิจกรรมมีเหมาะสม และงบประมาณในการจัดการเรียนการสอนมีเพียงพอและเหมาะสมข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือสื่อวัสดุอุปกรณ์และเอกสารมีความสอดคล้องกับเนื้อหาในโครงการ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.57 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.59 และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อในความคิดเห็นของนักเรียนพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ โรงเรียนติดตามผลการดำเนินโครงการเป็นระยะและให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสม่ำเสมอ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ เกณฑ์การประเมินของผู้สอนหรือวิทยากรมีความโปร่งใสยุติธรรม ในความคิดเห็นของผู้ปกครองพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในโครงการมีประโยชน์ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในโครงการมีความเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน และในความคิดเห็นของครูพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ครูมีเทคนิค สื่อและวิธีการสอนช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือโรงเรียนติดตามผลการดำเนินโครงการเป็นระยะและให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสม่ำเสมอ
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.69 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.47 และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อในความคิดเห็นของนักเรียนพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ผลงานของนักเรียนประสบผลสำเร็จทุกครั้งที่ปฏิบัติ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน ในความคิดเห็นของผู้ปกครองพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ นักเรียนสามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ นักเรียนสามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาและทักษะชีวิต และในความคิดเห็นของครูพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ นักเรียนสามารถใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา นักเรียนสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพในอนาคต นักเรียนเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนักเรียนสามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ผลงานของนักเรียนประสบผลสำเร็จทุกครั้งที่ปฏิบัติ